‘หม่อมเต่า’ สั่งประกันสังคมเร่งติดตามช่วยเหลือลูกจ้างประสบเหตุ ‘เครนถล่ม’ ย่านคลองถม

จากเหตุการณ์เครนก่อสร้างถล่มย่านคลองถมเซ็นเตอร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ล่าสุด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งกำชับให้ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เร่งให้การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายทศพล เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สั่งการให้นางรัศมี สุจโต ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลโดยด่วน และดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บเป็นการด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บเป็นลูกจ้างของ บริษัท ปิยะทรัพย์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ซึ่งขณะนี้ลูกจ้างทั้ง 3 ราย กระจายเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล 3 แห่ง ตนจึงให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบเร่งกระจายกันออกตรวจเยี่ยม พบว่าสถานพยาบาลให้การรักษาเป็นอย่างดี ดังนี้

1.นายเกียรติศักดิ์ เสนาหาร เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) กลาง ได้มอบหมาย นางรัศมี สุจโต อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่1 เข้าเยี่ยมอาการบาดเจ็บ พบว่า การบาดเจ็บที่สะโพกขวาผ่าตัดแล้ว รอดูอาการ บาดเจ็บเพิ่มเติมว่า กระทบเส้นเลือดกล้ามเนื้อจุดใดบ้าง และในส่วนที่เหล็กทะลุกระดูกตาซ้ายกระดูกแตกทำให้มีรูรั่วลมเข้าที่สมองต้องรอแพทย์เฉพาะทางตรวจรายละเอียดอีกครั้ง

Advertisement

2.นายสมพร กนิษฐสุนทร เข้ารับการรักษาที่ รพ.บางนา1 มอบหมาย นางนงค์ลักษณ์ กอวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 เข้าเยี่ยมและรายงานว่าผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บที่แขนขวาและปาก แพทย์ศัลยกรรมประสาท ส่งทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) ผลปรากฎเส้นประสาทแขนและคอได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แพทย์จัดทำแผนส่งกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป

3.นายมนัสพงศ์ ดีมี เข้ารับการรักษาที่ รพ.วิชัยเวช อ้อมน้อย มอบหมาย นายมนัส ทานะมัย ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่าจากการเข้าเยี่ยม พบว่าผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังร้าว เบื้องต้นโรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่ต้องผ่าตัด ให้ใส่เสื้อพยุงหลัง และหัดเดินซึ่งอาการดีขึ้นตามลำดับ

“อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่าการประสบอันตรายดังกล่าวเป็นการประสบอันตราย เนื่องจากการทำงาน สปส.จะต้องดูแล ลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน คือ ค่ารักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาตามกฎกระทรวง ค่าทดแทนการหยุดพักรักษาตัวอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ซึ่ง สปส.ได้เชิญนายจ้างเข้าแจ้งการประสบอันตรายของลูกจ้างทั้ง 3 ราย เพื่อวินิจฉัยสั่งจ่ายเงินทดแทนโดยเร็ว ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง /จังหวัด /สาขาที่สะดวก หรือ โทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)” นายทศพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image