2ตัวแทน สธ.ยันไม่ได้ยกมือลงมติในที่ประชุม ‘คกก.วัตถุอันตราย’ ยึดมติเดิม 22ต.ค. ต้องแบนสารเคมี (คลิป)

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน มีมติให้ยืดระยะเวลาการยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งเท่ากับว่ายังไม่มีการยกเลิกใช้ 3 สาร ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. พร้อมด้วย ตัวแทนของ สธ.ที่เป็นกรรมการวัตถุอันตราย คือ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงข่าวแสดงท่าทีและจุดยืนของ สธ.ต่อสารเคมีอันตรายทางการเกษตร

นพ.สุขุม กล่าวว่า สารเหล่านี้มีพิษ หากจะมีคนกล่าวว่าถ้าไม่กิน ไม่นำไปกินเพื่อฆ่าตัวตายก็ไม่เป็นอันตรายนั้น แต่ในข้อมูลแล้วพิษของสารมีทั้งแบบเฉียบพลันจากการใช้ฆ่าตัวตายหรือเพียงแค่สัมผัสถูกร่างกาย หากหกรดตัวก็สามารถเสียชีวิตได้ทันที พร้อมทั้งยังมีแบบการตกค้างในอาหาร ดังที่พบในการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่พบในผักกะหล่ำปลีที่มีการตกค้างมากถึง 0.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่ามาตรฐานที่ยอมรับคือ 0.01 ซึ่งเกินมามากกว่า 20 เท่า และพบผู้ป่วยมากขึ้น มีผลต่ออนาคตที่จะมีผู้ป่วยโรคทางสมองมากขึ้น รวมไปถึงการผ่านจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้ และเป็นข้อมูลทางสาธารณสุขที่ทำให้ สธ.ยืนยันว่าเรื่องสุขภาพของประชาชนสำคัญกว่า จึงต้องยืนยันตามมติเดิมที่มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องแบนสารเคมีตามมติเดิม

ผู้สื่อข่าวถามถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ระบุว่ามีผลการลงมติเป็นเอกฉันท์ ตัวแทนจาก สธ.ได้ลงมติหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวยืนยันว่า ตัวแทนจาก สธ.ไม่ได้มีการยกมือลงมติใดๆ ไม่ได้มีการยืนยันมติในส่วนนี้ พร้อมทั้งได้อภิปรายข้อมูลของ 3 สารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพต่อที่ประชุม และยืนยันในมติเดิมที่ได้ลงมติไป

Advertisement

เมื่อถามว่า การลงมติในที่ประชุมนั้นมีลักษณะการลงมติอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ในส่วนของตัวแทน สธ.ยืนยันมติในที่ประชุมของวันที่ 22 ตุลาคม ที่ได้มีการลงมติในที่ประชุมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ว่าให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 สารแล้ว และในที่ประชุมเมื่อวานนั้นไม่มีการให้ยกมือหรือลงมติเป็นรายบุคคลในการให้ยกเลิกมตินี้ สธ.จึงยืนยันว่าเรายังยึดตามมติเดิม

ต่อข้อถามว่า นอกจากตัวแทนของ สธ.แล้ว ในที่ประชุมมีคณะกรรมการคนอื่นที่เห็นด้วยในการลงมติเดิมหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่มีข้อมูลคือ รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สธ.ยังคงยืนยันว่ามติในที่ประชุมวันที่ 22 ตุลาคม ได้ผ่านการรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.สุมขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของสารทดแทนต่างๆ ที่จะนำมาแทนสารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และสารทดแทนใดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สธ.ที่เป็นหน่วยงานหลักด้านนี้ก็จะต้องหาข้อมูล และต้องสรุปเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากเป็นบทบาทและภารกิจของกระทรวง และปัจจุบันนี้จะต้องดูตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคและต้องดูถึงอนาคตของเด็กรุ่นหลัง ดังนั้นปัญหาในวันนี้ก็จะมีผลกระทบระยะยาว

“ตัวแทนของ สธ.ที่เข้าร่วมประชุมนั้น เป็นกรรมการตั้งแต่ชุดเดิมมาจนถึงชุดใหม่ จะมีความรู้ความเข้าใจ เราถึงบอกได้ว่าเรามีจุดยืนไม่เคยเปลี่ยนแปลง เราก็จะเสนอให้แบน 3 ตัว และแบนทันที และข้อมูลนี้เราก็จะพยายามคุ้มครองประชาชนมากขึ้น โดยการเพิ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 80,000 คน ที่พัฒนาจาก อสม.จำนวน 1 ล้านกว่าคน ให้ใช้เครื่องมือลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ตรวจสอบหาสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ และจะพยายามทำให้ครอบคลุมมากขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว

เมื่อถามว่าในแง่ของกฎหมายที่ สธ.ยืนยันว่าไม่ได้มีการลงมติใดๆ ในที่ประชุมแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแถลงผลการประชุมเป็นเอกฉันท์ ถือว่าถูกต้องหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปรายงานการประชุม ไม่สามารถคาดเดาเองได้ แต่ สธ.ยังคงยืนยันมติเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image