‘อนุทิน’ ย้ำ ‘กัญชา’ บ้านละ 6 ต้น ยังอยู่ในสภา รอ กม.ใหม่

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. เปิดการประชุมเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตัน การใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์” โดยมีผู้สนใจจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.ได้ผลักดันกัญชาเสรีทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย และคณาจารย์ทางการศึกษา ทำให้ได้ข้อมูลวิชาการ เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาและประชาชนทั่วไป ทำให้สารสกัดกัญชาไม่ได้อยู่ใต้ดินอีกต่อไป โดยปลัด สธ.ได้ประกาศให้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบผสมผสาน ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยแล้วในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ในสังกัด สธ. รวมทั้งสิ้น 110 แห่ง และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย 27 แห่ง และกำลังขยายความครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ที่ผ่านการอบรมการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แล้วกว่า 6,000 คน เป็นการปลดล็อกระดับการเข้าถึงกัญชาเสรี ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และระยะต่อไป จะปรับการเข้าถึงกัญชาสู่ระดับชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยในชุมชนทุกรายมีสิทธิเข้าถึงกัญชาในการรักษาตนเองแบบวิถีชาวบ้าน

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า ได้ลงนามประกาศเรื่องกัญชง และแก้ไขกฎหมายกัญชาเพิ่มเติม เพื่อให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนสามารถปลูกกัญชาได้ โดยขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างเดียวที่จะปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ขณะนี้ อยู่ระหว่างกฤษฎีกาให้ความเห็น ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการปลูกบ้านละ 6 ต้น ต้องรอกฎหมายใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

“ยังยืนยันเจตนารมณ์ จะผลักดันนโยบายเสรีกัญชาทางการแพทย์ต่อไป เชื่อมั่นว่าสารสกัดกัญชามีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และการผลิตยาสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ จะสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า เพื่อให้มั่นใจผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มี 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาสารสกัดกัญชาผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และโรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร น้ำมันกัญชาตำรับของหมอพื้นบ้าน และตำรับยากัญชาแผนไทย ผลิตโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับสถาบันการเกษตรแม่โจ้ มหาวิทยาลัยต่างๆ และ อภ.ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งทำให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีการอนุญาตพื้นที่ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์และการศึกษาวิจัยแก่มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และวิสาหกิจชุมชนแล้ว 9 แห่ง โดยมีสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ประสานการทำงานและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างความเข้าใจประชาชนว่าเป็นการใช้เสรีทางการแพทย์ ไม่ใช่การสันทนาการ แต่ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image