กกจ.จับมือ 4 หน่วยงาน 3 กระทรวง ยกระดับการฝึกอาชีพ สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน น.ส.อุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา และยกระดับการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายสุชาติ กล่าวภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา และยกระดับการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ว่า ในวันนี้เป็นความร่วมมือของ 3 กระทรวง ระหว่าง กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประสานความร่วมมือกันในการส่งเสริม และพัฒนาทักษะอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายของกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว ในพื้นที่การดูแลของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรี และครอบครัว จำนวน 8 แห่ง โดยบูรณาการหลักสูตรร่วมกันเพื่อยกระดับการฝึกอาชีพให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริม และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทักษะความชำนาญของแต่ละหน่วยงานที่ร่วมลงนามในอันที่จะส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิต มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กกจ.มีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานความร่วมมือในการส่งเสริมการมีงานทำแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยการให้บริการจัดหางาน การแนะแนวอาชีพ การประกอบอาชีพ และการรับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมตามอำนาจหน้าที่ของ กกจ.ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการมีงานทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย” นายสุชาติ กล่าว

ขณะที่ นายธวัช กล่าวว่า กพร.จะสนับสนุนข้อมูลเพื่อการวางแผนการจัดฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และแลกเปลี่ยนวิทยากรการฝึกในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อนำความรู้ไปขยายผลการฝึกอบรมแก่กลุ่มเป้าหมาย ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับความต้องการ ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงานในหลักสูตรตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การพัมนารูปแบบการฝึกอบรมตรงกับความต้องการ และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆที่เหมาะสม

Advertisement

 

ด้าน น.ส.อุษณี กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จะมีหน้าที่ในการจัดทำแผนดำเนินการและพัฒนาหลักสูตรในการส่งเสริม พัฒนาทักษะ และยกระดับการฝึกอาชีพของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มาตรฐาน จัดหากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นสตรีและผู้ประสบปัญหาทางสังคมในพื้นที่ เพื่อการฝึกอบรมอาชีพ จัดหาทีมวิทยากรในการฝึกทักษะอาชีพและให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ จัดเตรียมสถานที่ในการส่งเสริม พัฒนาทักษะ และยกระดับการฝึกอาชีพ

Advertisement

นางวรรณพร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ทำหน้าที่ในการฝึกอบรม พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยส่งเสริม สนับสนุน ให้มีความรู้ และสามารถต่อยอดประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นช่องทางในการทำธุรกิจการค้าสำหรับตนเองหรือกลุ่มอาชีพ ส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระดับชุมชน (Village E-Commerce) ภายใต้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ส่งเสริมสินค้าชุมชนการตลาดออนไลน์ โดย Village E-Commerce หรือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

นางสุรางคณา กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพาณิชน์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้สื่อออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการใช้มาตรฐานทางด้านความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกลุ่มอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มอาชีพ ในการเข้าถึง เรียนรู้ เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image