686 องค์กร จ่อยื่นฟ้องศาลเอาผิด ‘สุริยะ’ ออกมติสันนิษฐานล้มแบน 3 สารเคมีไม่ชอบ กม.

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่มูลนิธิชีววิถี นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย พร้อมด้วย ผศ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นายสุนทร รักษ์รงค์ ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) นายอุบล อยู่หว้า ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นางทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมแถลงข่าว “เดินหน้าขับเคลื่อนการแบน 3 สารพิษ หลังมติสันนิษฐาน ล้มแบนไกลโฟเซต เลื่อนแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส”

นายวิฑูรย์กล่าวว่า จากการหารือกันภายในเครือข่ายองค์กรและรับทราบข้อมูลว่า มีบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงมตินั้น ไม่เห็นด้วยกับคำแถลงการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงมีการเสนอให้ตีความมตินั้น ซึ่งปกติหน่วยงานราชการสามารถยื่นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความได้ ขณะนี้เครือข่ายฯ จึงรอให้ผ่านขั้นตอนดังกล่าวไปก่อน และระหว่างนั้นจะเตรียมการฟ้องไว้ ในกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าคำสั่งนั้นมีผลบังคับใช้ได้ เครือข่ายจึงจะดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองโดยเร็วที่สุด และจะมีการพิจารณาการฟ้องต่อศาลอาญาในกรณีการทุจริต กระทำโดยมิชอบ และจะติดต่อกับหน่วยงานที่ต่อต้านการกระทำผิดคอร์รัปชั่นเพื่อดำเนินการในกรณีนี้ร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถานการณ์ขณะนี้ คณะกรรมการวัตถุฯ พยายามเดินหน้าตามมติต่อไป และเครือข่ายฯ ก็จะดำเนินตามขั้นตอนของศาล แต่ในทางปฏิบัตินั้นควรจะมองที่แนวทางไหนนอกเหนือจากนี้หรือไม่ นายวิฑูรย์กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว มีความคิดเห็นว่ามติในที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางรัฐบาล ต้องดำเนินการให้มีผลบังคับใช้และมีผลโดยเร็ว

Advertisement

“ข้อเสนอด้านมาตรการและทางเลือกของเกษตรกรในช่วงเวลาของการบังคับใช้กฎหมาย ในทางปฏิบัติของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นความกังวลหลัก ที่ไม่ใช่สารเคมีกำจัดแมลงที่หลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าตัวนั้นไม่น่ากังวล ระยะเวลาการใช้สารจริงๆ จะมีระยะเวลาไปถึงช่วงฤดูเพาะปลูก ซึ่งเริ่มในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 5-7 เดือน ในการดำเนินการ หมายความว่าในช่วงเวลานี้ รัฐบาลต้องแถลงมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งในมุมของคนทำงานกับเกษตรกรรู้สึกรับไม่ได้กับการทำงานของรัฐบาลที่ไม่แถลงวิธีที่ชัดเจนของทางเลือกในการกำจัดวัชพืช รวมถึงการไม่ได้ประกาศนโยบายที่เจน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมของรัฐบาล โดยเฉพาะ กษ.” นายวิฑูรย์กล่าว

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์กล่าวว่า เห็นได้ว่าการที่ไม่มีการเสนอรายละเอียดของกระบวนการต่างๆ อย่างครบถ้วน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชงลูกและรับลูก เพื่อนำไปสู่การประกาศการทบทวนการแบนไกลโฟเซตหรือไม่อย่างไร ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินการ พบว่าในเอกสารของคณะกรรมการวัตถุฯ ที่มีการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 นั้น ได้กล่าวถึงทางเลือกต่างๆ ไว้อย่างละเอียด รวมไปถึงข้อเสนอของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้เสนอทางเลือกหลายทางที่ดีกว่าการใช้ทั้ง 3 สารนี้ และมีผลงานวิชาการของกรมวิชาการการเกษตรที่ระบุทางเลือกชัดเจนว่า การใช้เครื่องจักรกลดีกว่าการใช้สารเคมี แต่ไม่ถูกอ้างอิงในการประชุม

“ขณะนี้มีการเรียกร้องจากเกษตรกรที่ใช้เครื่องจักรกลในการเกษตร ให้มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าในบางกรณี ดังนั้นที่เราเห็นว่าต้นทุนของการใช้สารเคมีถูกกว่านั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 1.ระบบภาษีไม่ยุติธรรม คนที่ผลิตเกษตรที่ไม่ใช่สารเคมี แต่ใช้เครื่องจักรกล เครื่องตัดหญ้า ทุกคนต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในขณะที่การใช้สารเคมีไม่เสียเลย 2.รัฐบาลไม่ได้คิดว่าการใช้สารเคมีมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งค่าใช้จ่ายจากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ (มก.) คำนวณแล้วว่าทุก 1 ล้านบาท ที่นำเข้าสารเคมี จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และกลไกในการเยียวยาประมาณ 765,000 บาท ดังนั้นหากนำเข้าสารพิษประมาณ 30,000 ล้านบาท เราลองคำนวณดูว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไร จึงมีการเรียกร้องให้ดำเนินการให้เป็นระบบและเป็นธรรมอย่างเร่งด่วน และมีเวลาให้ปรับตัวเพราะว่าฤดูเพาะปลูกจะมาอีก 5-7 เดือนข้างหน้า” นายวิฑูรย์กล่าว

Advertisement

เมื่อถามต่อว่าจะมีการฟ้องเพียงนายสุริยะ หรือจะฟ้องคณะกรรมการวัตถุฯ ร่วมด้วยหรือไม่ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การฟ้องนั้น จะฟ้องเฉพาะประธานคณะกรรมการวัตถุฯ ซึ่งจะมีผลต่อมติของคณะกรรมการวัตถุฯ ในที่สุด เนื่องจากประธานดำเนินการโดยไม่ชอบ กระบวนการนั้นก็ไม่ชอบ และจะมีผลต่อมติในที่สุด

“การแบนสารเคมีนั้น สามารถกำหนดค่าสารตกค้างได้ เช่น ปัจจุบันได้กำหนดค่าสารตกค้างของข้าวโพดและถั่วเหลือง ที่กำหนดโดยโคเด็กซ์ (Codex) ของประเทศไทยอยู่ที่ 20 พีพีเอ็มมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ค่าตกค้างของถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกา 40 พีพีเอ็มมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ขณะเดียวกัน ประเทศบราซิลที่เป็นประเทศส่งออกถั่วเหลืองกำหนดอยู่ที่ 10 พีพีเอ็มมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้นเมื่อเราประกาศแบนไกลโฟเซตเราสามารถกำหนดค่าให้ต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้ และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีค่าตกค้างที่สูงสุดนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่กำหนด ดังนั้น ประเทศไทยสามารถกำหนดค่าให้ต่ำได้อีกประมาณ 5 พีพีเอ็มมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพื่อรับประกันความปลอดภัยของผู้บริโภค ในขณะที่เราไม่สามารถหาทางเลือกที่ดีกว่าได้ และในการที่ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง จะเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้กับประเทศ ไม่ใช่เป็นข้อจำกัดของประเทศเลย” นายวิฑูรย์กล่าว

ต่อข้อถามว่าจะดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้ที่ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษนี้ หรือไม่ น.ส.สารี กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีประมาณ 110 ราย และจะมีการรวบรวมเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลจากสหรัฐ ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดสามารถฟ้องร้องได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะรวบรวมผู้เสียหายด้วย

ขณะที่ นางทัศนีย์กล่าวว่า ผู้บริโภคหรือเกษตรกรรายใดที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าว สามารถเข้าร่วมฟ้องร้องกับเครือข่ายฯ ได้

วันเดียวกัน เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ออกแถลงการณ์ข้อเสนอการแบน 3 สารพิษร้ายแรง ด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image