‘สีหศักดิ์’ นำทีมไทย นั่งกรรมการมรดกโลก ลุ้น ‘แก่งกระจาน’

ในที่สุดประเทศไทยก็ได้รับคะแนนโหวตอย่างเป็นทางการ จากภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก ไปแบบไร้คู่แข่งด้วยคะแนน 156 เสียง จากภาคีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ถือเป็นคะแนนเสียงที่มากที่สุด สำหรับตำแหน่งว่าง 9 ตำแหน่ง จากกรรมการทั้งหมด 21 ตำแหน่ง ขณะที่แอฟริกาใต้ได้ 130 เสียง ไนจีเรีย 128 เสียง มาลี 118 เสียง และโอมาน 95 เสียง

ประเทศไทยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการมรดกโลกตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 มกราคม 2562 ที่ระบุว่า เมื่อตำแหน่งในคณะกรรมการมรดกโลกว่างลง ประเทศไทยจะต้องลงรับสมัครเลือกตั้ง หลังจากประเทศไทยเว้นว่างจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้วถึง 6 ปีด้วยกัน จากในอดีตที่ประเทศไทยเคยเป็นคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้ว 3 สมัย สำหรับทำหน้าที่คณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ จะมีวาระการทำงาน 4 ปี

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตประเทศไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ไปปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ เล่าถึงที่มาที่ไปในการชิงเก้าอี้กรรมการมรดกโลกครั้งนี้ว่า ประเทศไทยเริ่มหาเสียงกับภาคีสมาชิกเพื่อหวังจะเข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้มาตั้งแต่ต้นปี เมื่อได้รับเลือกมาก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะแสดงบทบาทในเวทีโลก เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากการเข้าไปทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอทั้งแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกทางธรรมชาติแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การปรับปรุงระบบวิธีการพิจารณาข้อเสนอของแต่ละประเทศ จากเดิมที่จะมีความยุ่งยากในเรื่องของแบบฟอร์มการนำเสนอผ่านเอกสาร ที่อาจจะทำให้หลายๆ ประเทศที่มีงบประมาณน้อยมีโอกาสไม่มากนักที่จะได้รับการพิจารณา เพราะการเขียนผ่านกระดาษนั้นมีความยุ่งยาก และอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้บางประการ

Advertisement

“เรื่องนี้จะต้องเปลี่ยนแนวทางเป็นการพิจารณาจากเอกสารแค่บางส่วน และจะให้คณะกรรมการลงพื้นที่ เพื่อให้ไปเห็นข้อเท็จจริง และได้พูดคุยกับทางเจ้าของพื้นที่มากยิ่งขึ้น” อดีตเอกอัครราชทูตประเทศไทยประจำกรุงปารีสเผยถึงแนวทางที่ไทยจะเสนอ

ประเด็นที่คนไทยหลายคนอยากรู้คำตอบว่า ในเมื่อประเทศไทยเป็นกรรมการในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว สำหรับพื้นที่ ที่ประเทศไทยนำเสนอเข้าไป จะมีโอกาสได้รับการขึ้นทะเบียนง่ายกว่าเดิมหรือไม่ “สีหศักดิ์” บอกว่า ในความเป็นกติกา และกฎระเบียบของพื้นที่ ที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนมีชัดเจนอยู่แล้ว การจะบอกว่าเมื่อประเทศไทยเป็นกรรมการมรดกโลกแล้ว อะไรที่ส่งเข้าไปจะได้ขึ้นทะเบียนหมด ก็ไม่ถูกต้องนัก ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา แต่แน่นอนว่า การไปพูดคุย และได้อธิบายเรื่องราวรายละเอียดกับคณะกรรมการอาจจะมีมากยิ่งขึ้น และง่ายขึ้น

เดือนมิถุนายน 2563 จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มีวาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งต่างๆ ที่แต่ละประเทศนำเสนอมาอีกครั้ง ประเด็นสำคัญก็คือ ประเทศไทยได้นำเสนอ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย หลังจากพบกับความผิดหวังเนื่องมาจากข้อมูลไม่ครบ ไม่เพียงพอต่อการพิจารณา เมื่อครั้งประชุมกันที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน คาดว่าการประชุมที่ประเทศจีนครั้งหน้า ไทยจะถูกจับตาจากทั่วโลกอีกครั้งในประเด็นนี้

Advertisement

“คราวที่แล้วพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังติดขัดเรื่องของเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านคือเมียนมา และเรื่องสิทธิชุมชน ถึงตอนนี้เรื่องของเขตแดนกับเมียนมานั้นเคลียร์กันเรียบร้อยแล้ว เหลือเรื่องสิทธิชุมชน เป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติที่จะต้องส่งข้อมูลเหล่านี้ให้คณะกรรมการได้พิจารณาก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หากทุกอย่างพร้อม ตอบคำถามคณะกรรมการได้ อยู่ในกรอบกติกาที่คณะกรรมการกำหนดเอาไว้ทุกอย่าง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยเราก็ยังช่วยชี้แจงกับทุกประเทศไทย” สีหศักดิ์เผยถึงโอกาสที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องคดีความที่เกิดขึ้น คือ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยง ที่ถูกฆาตกรรม โดยมีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตกเป็นผู้ต้องหา ว่ากันว่า หากคดีดังกล่าวไม่สิ้นสุด และยังจับใครมาลงโทษไม่ได้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะไม่มีวันได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเรื่องนี้ “สีหศักดิ์” อธิบายว่า คณะกรรมการมรดกโลก คงจะไปก้าวล่วงขนาดนั้นไม่ได้ ต้องเคารพในกฎหมายของแต่ละประเทศ

“ที่สำคัญคือในเวทีของสหประชาชาตินั้นก็มี สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ว่าจะมีการจัดการอย่างไร ชาวบ้านในชุมชนมีความเป็นอยู่อย่างไร ทำมาหากินอะไรกัน การให้พื้นที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้นั้น สำคัญคือ ชุมชนจะต้องให้ความเห็นชอบด้วย” สีหศักดิ์ แจกแจงประเด็นที่หลายฝ่ายยังกังวล

ดังนั้น เมื่อดูจากศักยภาพของคณะผู้แทนไทยที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการมรดกโลก ที่หัวหน้าคณะคือ “สีหศักดิ์” นั้น ถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง ยอมรับ และไว้วางใจจากคณะทำงานทุกฝ่ายในยูเนสโกอยู่แล้ว

ขณะนี้เหลือเพียงความพร้อมของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่จะต้องส่งข้อมูลที่ยังเหลือ ทั้งเรื่องของชนิดพันธุ์ พืชและสัตว์ ที่ต้องอัพเดตใหม่ทั้งหมด ข้อมูลเรื่องของสิทธิชุมชนที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันหลายฝ่าย

ข้อมูลครบ ไม่มีใครคัดค้าน ทุกอย่างอยู่ในกติกา ปีหน้าประเทศไทยน่าจะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพิ่มขึ้นมาอีก 1 แหล่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image