ก.แรงงานเปิดคอร์สเอาใจ ‘วัยเก๋า’ ส่งเสริมการมีงานทำ ตั้งเป้าปี’63 กว่า 4,000 คน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและมีนโยบายการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงานทุกช่วงวัย จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการฝึกทักษะทั้งแรงงานใหม่ แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงาน และกลุ่มแรงงานอิสระ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มีศักยภาพและสามารถทำงานเพื่อหารายได้ดูแลตนเองและครอบครัวได้ ให้สอดรับกับการเตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุด้วย ซึ่งในครึ่งปีแรกของงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าดำเนินการพัฒนาทักษะให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 4,080 คน และช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดำเนินการแล้ว 449 คน กระจายเป้าหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ดำเนินการคลอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด เน้นสาขาที่ผู้สูงอายุสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้ อาทิ ทำผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ (ต้นกก) เช่น ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ กล่องใส่ไม้จิ้มฟัน ทำเสื่อปูรองนั่ง ทำกระเป๋า ปลอกหมอน เป็นต้น การทำผ้ามัดย้อม และงานตุงและโคม ซึ่งผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรมแล้ว จะรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์จำหน่ายผ่านศูนย์แสดงสินค้าโอทอป (OTOP) ส่งจำหน่ายในร้านขายของฝากและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่ร่วมกันทำผลิตภัณฑ์และมีความเข้มแข็ง เช่น กลุ่มงานฝีมือแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นกก นาคาพรรณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีสมาชิกจำนวน 31 คน แปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้จากต้นกก เป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ กล่องใส่ไม้จิ้มฟัน และปลอกหมอน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าโอทอปของ จ.กาฬสินธุ์ ทำให้สมาชิกมีรายได้ต่อคนประมาณเดือนละ 3,000 – 4,000 บาท

“ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน สนพ.ชุมพร ได้บูรณาการกับเทศบาลตำบล (ทต.) ทุ่งตะไคร จัดฝึกอบรมให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 50 คน ในการทำผ้ามัดย้อม ณ โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ที่เลือกฝึกสาขาดังกล่าวเนื่องจากลักษณะผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น มีสีสันสวยงาม จำหน่ายง่าย และราคาไม่สูง สามารถแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกหลายประเภท เช่น ทำเป็นเสื้อ ทำเป็นกระเป๋าผ้า ทำผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น อีกทั้งได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ จึงสามารถจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังวางจำหน่ายให้กับคณะผู้เข้าศึกษาดูงานตามโรงเรียนผู้สูงอายุด้วย” นายธวัช กล่าว

Advertisement

ด้านนางสุมล อินทรักษ์ (มล) อายุ 64 ปี ผู้ผ่านการฝึกอบรมการทำผ้ามัดย้อม บอกว่า เป็นครูที่ เกษียณอายุราชการแล้ว ต้องการมีอาชีพเสริมและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งความเป็นครู จึงอยากนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับลูกหลานในหมู่บ้าน เพื่อเยาวชนหรือคนที่ว่างงาน จะได้มีความรู้ไปประกอบอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น การทำผ้ามัดย้อม เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิต หลังจากนั้น ต้องต่อยอดการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุ และผู้ว่างงาน มีรายได้ที่มากขึ้น

ผู้สูงอายุ และผู้สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image