‘อนุทิน’ แนะฟ้องคณะกก.วัตถุฯ ลั่นไม่ใช่หน้าที่รัฐต้องชดเชยผู้ประกอบการ สธ.จี้เปิดบันทึกประชุมตั้งแต่ต้นยันจบ

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงมติเกี่ยวกับการแบน 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพียงรับทราบรายงานจากประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่ไม่มีมติใดๆ และในส่วนของ สธ.ยังคงยืนยันว่าวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีโทษต่อสุขภาพและไม่ควรใช้ จากนี้ไป สธ.จะต้องใช้วิธีให้ความรู้ให้ความเข้าใจ และหามาตรการป้องกันและรักษาหากเกิดเหตุขึ้น

“สธ.มีคณะกรรมการเพียง 2 คน ในวันนี้ประชุมคณะผู้บริหาร สธ. และตัวแทนจาก สธ. ก็ยืนยันว่าไม่ได้มีความเห็น จึงต้องทำความเข้าใจ เพราะเดี๋ยวมีคนเข้าใจว่า สธ.สนับสนุน ซึ่งไม่ใช่ และ สธ.ยังค้านอยู่ ส่วนจะชนะหรือไม่ชนะ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ที่รอหน่วยงานของรัฐยื่นตีความมติในวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งหากพบความไม่เป็นธรรมจะส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง  สธ.จะยื่นตีความหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องขององค์กรอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะมีทั้งคนหนุนและต่อต้าน

“แต่ประเด็นคือ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติอย่างไร ก็จะต้องไปพิสูจน์ตรงนั้น ซึ่งผมไม่ได้อยู่ในที่ประชุม จึงไม่ทราบ แต่จากข้อมูลพบว่า มีคณะกรรมการลาออก 1 ท่าน คือ รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ท่านแจ้งว่าไม่มีการลงมติ ผู้แทนจาก สธ.ก็ยืนยันว่ามีการคัดค้าน ดังนั้นการประชุมครั้งหน้าจะต้องดูว่าจะมีรับรองมติหรือไม่ และอาจจะต้องมีการโหวตกันอีกครั้ง
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ทำหนังสือท้วงติงไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ส่วนรายละเอียดผมไม่เห็น เขาทำของเขาเอง เพราะเขาเป็นกรรมการ มันไม่ใช่คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ทุกคนทำตามพันธกิจของตัวเองที่มีต่อองค์กร” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

เมื่อถามต่อว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ท้าให้เปิดเทปขณะประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน และกล่าวในทำนองว่าผู้แทนจาก สธ.เห็นด้วยในมติ สธ.จะขอให้มีการเปิดเทปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อใดที่มีความเห็นต่างกัน เราจะต้องหาบทพิสูจน์ และหากมีการเปิดเทปแล้วผู้แทนจาก สธ.บอกว่าเห็นชอบด้วยนั้น ก็จะต้องเป็นประเด็น แต่เชื่อว่าผู้แทนจาก สธ.คงไม่ทำเช่นนั้น เพราะหากทำ ก็คงไม่กล้ามารายงานในที่ประชุมที่มีผู้ประชุมกว่าร้อยคนว่า ตนเห็นแย้งและไม่เห็นด้วย

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เห็นชอบให้มีการเลื่อนแบนสารเคมีออกไป เนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณจริงหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ทราบและน่าจะเป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากไม่มีตรงไหนที่ระบุว่ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบการกำจัดสารพิษเหล่านี้อย่างไร จะต้องการเยียวยาอย่างไร หรือทดแทนการนำเข้าของผู้ประกอบการอย่างไร

“ผู้ประกอบการตัดสินใจจะนำสารพิษมาขายในเมืองไทย ก็ต้องรับผิดชอบ เกิดจับไม่ได้ก็ได้กำไรไป แต่ถ้าจับได้ก็ต้องเสี่ยงอยู่แล้ว การทำธุรกิจต้องมีความเสี่ยง มีหน้าที่ต้องไหนที่รัฐจะต้องไปรับผิดชอบ และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่จะต้องจำกัดการใช้ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าจะต้องจำกัดการใช้ ถ้าจำกัดการใช้แล้วยังนำมาเข้ามาเพิ่ม มันจำกัดหรือเปล่า เพราะวัตถุสารพิษทั้งสามชนิดเป็นวัตถุอันตรายแน่นอน ไม่เคยมีใครบอกว่าไม่เป็น เพียงแต่ว่าจะต้องยืดหยุ่นในการใช้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ 6 เดือนก็แล้ว พอถึง 6 เดือนแล้ว ก็ยืดอีก เท่ากับเราไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเลยหรือ ยืดมา 2 ปีแล้ว ยังต้องยืดอีก แล้วคำพูดที่ว่าจะต้องไปทดแทน ไปชดเชยค่าเสียหาย มันไม่ใช่ รัฐไม่มีหน้าที่ต้องทดแทน รัฐต้องไม่ทดแทนด้วยซ้ำ กับคนที่เอาโทษเป็นอันตรายต่อสุขภาพชีวิตของประชาชนในรัฐนั้นเข้ามาใช้” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในกรณีที่องค์กรต่างๆ ที่รอให้มีการยื่นตีความมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เพื่อความเป็นธรรมและหากพบความไม่ชอบธรรมก็จะทำการฟ้องร้อง ทาง สธ.จะยื่นตีความหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ให้เขาฟ้องไปเลย และไม่จำเป็นที่ สธ.จะต้องยื่นตีความ และกระทรวงก็ทำหน้าที่ในขอบเขตของกระทรวง และมีคณะกรรมการ 2 คน และ สธ.ไม่ได้หนุน แต่หากมติเป็นอย่างไร สธ.ก็จะต้องทำตามเพราะเราทำตามกฎหมาย

“หากมีการประชุมครั้งหน้าแล้วรายงานการประชุมเขียนว่ามีมติเอกฉันท์ ในเรื่องการแบนสารพิษ สธ.ก็จะต้องโต้แย้งว่า ไม่ใช่ เพราะ สธ.ไม่ได้เห็นด้วย มันก็ไม่เป็นเอกฉันท์ ดังนั้นจะต้องบันทึกว่า สธ.ไม่ได้เห็นด้วย หากมีรายงานว่าเป็นเสียงข้างมากก็โอเค อย่างนี้ใช้ได้ แต่ก็จะต้องระบุว่าเสียงข้างน้อยเป็นใคร กฎหมายมีแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ทำตามอย่างนี้ก็มันสิ ถ้าท่านพูดว่าเสียงข้างมากก็จบไปแต่ต้องบอกท่านว่าในเสียงข้างมาก ไม่มี สธ.ในนั้น สธ.ก็กลับมาทำในเรื่องของการป้องกัน รักษาและให้ความรู้ต่อประชาชนในเรื่องอันตราย” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามต่อว่า หากทำเช่นนี้จะเป็นการปล่อยให้องค์กรผู้บริโภคต่อสู้อย่างเดียวดายหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.สู้จนสุดซอยแล้ว เราก็ทำหมดแล้ว ขึ้นป้ายรณรงค์ทั่วประเทศ เอาภาพผู้ป่วยมาเผยแพร่แล้ว แบบนี้ไม่สุดซอยยังไง

“จะให้ผมทำยังไง ให้ลากมาชกหน้าก็ไม่ได้ คำว่าสุดซอยคืออะไร จะให้ออกไปประท้วงกลางถนนละบอกว่า ไม่เอา ไม่เอาไม่เอาสารแบบนี้หรอ มันได้หรอ แล้วจะมีกฎหมายไว้ทำไม จะมีคณะกรรมการทำไม คณะกรรมการโหวตเป็นอย่างไรพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก็เขียนไว้ว่าให้เป็นไปตามนั้น สุดซอยแล้ว คือถ้า สธ.เข้าไปบอกว่า หยวนๆ ให้อีก 6 เดือนหรือไม่ต้องแบนแล้วก็ได้ แบบนี้สิถึงทำไม่เต็มที่ จะตีความเอาแต่ใจแฟนมวยไม่ได้ คนโดยชกโดนเตะเป็นผม” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เพื่อชี้แจงไปยังประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายผ่านทางเลขาธิการกรณีการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ว่า ตนในฐานะตัวแทนของปลัด สธ.ยืนยันมติเดิมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม และขอให้ประธานและเลขาธิการช่วยแจ้งและจดบันทึกไว้ในที่ประชุมด้วยว่า สธ.ยังยืนยันตามมติเดิม

เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไรหากจะมีการเปิดเทปเสียง นพ.โอภาส กล่าวว่า หากจะเปิดเทปนั้น ตนยืนยันว่าขอให้เปิดตั้งแต่ต้นจนจบ หากเปิดเพียงท่อนใดท่อนหนึ่งนั้น อาจจะถูกตีความที่ผิดได้ เนื่องจากการประชุมใช้ระยะเวลาถึง 4 ชั่วโมง และจะมีลำดับว่าคณะกรรมการท่านใดพูดอะไรบ้าง และสรุปรายงานการประชุมน่าจะใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้อย่างเป็นทางการ พร้อมเน้นย้ำว่าขอให้บันทึกให้ครบถ้วน อย่าตัดเอาตอนใดตอนหนึ่งมานำเสนอ เพราะจะเกิดความเข้าใจผิดได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image