รับมือ ‘ภัยแล้ง’ ทั่วทั้งเมือง

ขณะที่หลายคน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังตื่นเต้น หาซื้อเสื้อกันหนาวเพื่อรับสถานการณ์อากาศ อากาศหนาวต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ในรอบหลายปี หลังจากเกือบทั้งปี พบแต่อากาศร้อนถึงร้อนมากเกือบตลอดเวลา

ตามภาวะปกติ ฤดูหนาวจะมาก่อนฤดูร้อน และฤดูร้อนของประเทศไทยมักจะอยู่ควบคู่กับความแห้งแล้ง รวมไปถึงที่ผ่านมาหากปีไหนหนาวมาก ปีนั้นจะแล้งมากตามมาเช่นกัน

ปีนี้ จึงน่ากังวลมากกว่าทุกปี ว่าเราจะพบภาวะภัยแล้งที่น่ากลัวที่สุด

Advertisement

 

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) 76 จังหวัด ร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนวิธีแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การขออนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล และการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เพื่อชี้แจงให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

ก่อนหน้านี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร โดยประชาชนสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านระบบโทรศัพท์ 0-2666-7000 กด 1 หรือ 09-5949-7000 ทุกวัน จนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเรื่องการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ ประชาสัมพันธ์การจัดตั้งศูนย์ ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

Advertisement

”กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งไว้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ได้เข้าสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ ประสบภัยแล้ง และ อบต.ต่างๆ เพื่อให้แต่ละแห่งมีบ่อบาดาลเป็นของตัวเอง เพื่อดึงน้ำบาดาลออกมาให้บริการประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งหาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกร น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ จุดจ่ายน้ำถาวรที่พร้อมแจกน้ำให้ประชาชนที่มารับน้ำ 136 แห่ง โรงเรียนที่พร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดพิบัติภัย 374 แห่ง ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 85 ชุด รถบรรทุกน้ำ 90 คัน และหน่วยนาคราชหรือชุดซ่อมระบบประปาและเครื่องสูบ 38 ชุด เป็นต้น”Ž นายศักดิ์ดา กล่าว

ส่วนเรื่องการประกอบกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แจ้งให้ ทสจ.ทราบว่ามีการรวมแบบคำขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไว้ในคำขอเดียวกัน รวมทั้งปรับลดเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตจะต้องแนบมาพร้อมกับคำขอ รวมถึงยกเลิกการส่งผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำ หรือคำขอวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการอำนวยความสะดวก และลดภาระให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการหารือกับ ทสจ. ได้มีการกล่าวถึงการเติมน้ำใต้ดินหรือธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในหลายพื้นที่ว่า เป็นการนำน้ำที่เหลือใช้หรือช่วงที่ น้ำท่วมหลากเติมลงสู่ใต้ดินในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม หรือในพื้นที่ที่ต้องการเก็บสะสมน้ำไว้ใช้ โดยฝากไว้ในใต้ดิน เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และสามารถนำกลับมาใช้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลน และเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และหากมีการเติมน้ำใต้ดินในปริมาณมากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการลดลงของระดับน้ำบาดาลจากการใช้ที่เกินสมดุล แต่หลักการเติมน้ำลงใต้ดินสำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป ควรจะเป็นการเติมน้ำลงในชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น คือ ความลึกไม่เกิน 15 เมตรจากผิวดิน ตามสภาพพื้นดินแต่ละพื้นที่ คือ มีความลึก ความหนา ความบางของชั้นดิน หิน กรวด ทรายที่ไม่เท่ากัน บางพื้นที่ก็สามารถระบายลงพื้นดินได้อย่างรวดเร็ว บางพื้นที่ก็ค่อยๆ ระบายลง และต้องระลึกไว้เสมอว่า ไม่ควรใช้ยางรถยนต์หรือขวดน้ำพลาสติกในการทำวัสดุกรอง เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการกรองลดลง ซึ่งสารแขวนลอยหรือสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมากับน้ำ อาจไม่ถูกกรองให้สะอาดพอ ส่งผลต่อการอุดตัน จนอาจทำให้เกิดผลเสียต่อชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น

รูปแบบการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบัน มี 3 รูปแบบ คือ 1.ระบบเติมน้ำฝนจากหลังคาลงบ่อวงคอนกรีต 2.ระบบเติมน้ำผ่านบ่อวงคอนกรีต และ 3.ระบบเติมน้ำผ่านสระ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำคู่มือ และกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ www.dgr.go.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image