สธ.-กรมขนส่งคุม “ดื่มไม่ขับ” ช่วงเทศกาลปีใหม่ ลั่นเอาจริงปรับสูงสุด 2 แสนบาท-ถอนใบขับขี่

วันที่ 9 ธันวาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแต่ละปีสูงกว่า 20,000 คน (ข้อมูลจากบูรณาการ 3 ฐาน) เฉลี่ยผู้เสียชีวิต 55 คนต่อวัน และหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน คือ การเมาแล้วขับ ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) พบว่า การดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 38.4 ของอุบัติเหตุทั้งหมด เสียชีวิต 559 ราย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7,020 ราย ด้วยนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ที่ให้ความสำคัญในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือและแก้ปัญหาร่วมกัน เน้น “ดื่มไม่ขับ” ไม่ว่าดื่มมากหรือน้อยต้องไม่ขับ เมาแล้วขับไม่ใช่เพียงพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต แต่ต้องหาช่องทางดำเนินคดีให้หนักขึ้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรคดำเนินการร่วมกับเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนให้น้อยลง โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ดำเนินโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” มีโทษสูงสุดจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเหตุนั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และศาลสามารถสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2561– วันที่ 30 กันยายน 2562 มีการตรวจแอลกอฮอล์แล้ว 11,849 ราย พบว่ามีผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด (เกิน 50 mg%) จำนวนร้อยละ 55.06 ในกลุ่มนี้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด (เกิน 20 mg%) จำนวนร้อยละ 35.79 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ผลการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด 1,449 ราย พบผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 57.07 ในกลุ่มนี้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 44.32 ทำให้เห็นว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่มีกลุ่มวัยรุ่นที่ดื่มแล้วขับจำนวนมากกว่าช่วงปกติ เกิดความคึกคะนอง ขาดสติ และเกิดความประมาทในการขับขี่ได้ง่าย

นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ.ยังพบร้านค้าที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย และการห้ามขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สธ.และเครือข่ายจะบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศอย่างเคร่งครัด โดยจัดทีมเจ้าหน้าที่ให้ทำการสุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น คือช่วง 11.00–14.00 น. และ 17.00–24.00 น. และต้องไม่จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image