16ปี ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ สสส.ช่วยคนไทย ‘ลด ละ เลิกดื่ม’ สำเร็จ

“โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา” เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายหลังข้อมูลศึกษาพบสถิติคนไทยดื่มเหล้าเพิ่มสูงขึ้นจนน่ากลัว สวนทางกับองค์กรที่ทำงานด้านการรณรงค์เรื่องเหล้าที่มีอยู่น้อยมาก ทางเครือข่ายจึงปักธงทำงานรณรงค์เรื่องเหล้าเป็นอันดับแรก และปัจจุบันริเริ่มโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามา 16 ปีแล้ว

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะผ่านการประเมินเป็นแบรนดิ้ง หรือตราสัญลักษณ์ เมื่อเอ่ยถึงแล้วทุกคนรู้จักและสังคมเข้าใจความหมาย รวมถึงเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของคนไทย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเข้าพรรษา กิจกรรมงดเหล้าได้กลายเป็นกิจกรรมหลัก ประกอบกับความเชื่อทางศาสนาที่มีอยู่ในอดีต จึงใช้เป็นฐานในการสื่อสารออกไปสู่สังคมเพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า ทำสมาธิเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งช่วงแรกอาศัยการสื่อสารผ่านคนใกล้ตัว โดยช่วงปี 2546-2549 ใช้การสื่อสาร “เลิกเหล้าเพื่อแม่” แต่ไม่ได้ผลมากนัก ก่อนออกแคมเปญ “จน เครียด กินเหล้า เลิกเหล้า เลิกจน” เชื่อมโยงพิษภัยด้านเศรษฐกิจ คู่ขนานกับแคมเปญลดอุบัติเหตุ “เมาแล้วขับ” จากนั้นพยายามสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบ ความสูญเสียของคนรอบข้างและสังคม ซึ่งได้ผลมากขึ้น จนการขับเคลื่อนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นับเป็น พ.ร.บ.ที่ควบคุมและขับเคลื่อนด้านสุขภาพฉบับแรกของไทย จึงทำให้โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาสร้างบรรยากาศสังคมให้พร้อมรับกับกติกาสังคมใหม่ ช่วยกระตุ้นงานรณรงค์เลิกเหล้า และเปลี่ยนแปลงค่านิยมไม่เลี้ยงเหล้าในเทศกาลงานบุญประเพณี ตลอดจนสร้างองค์กรและเครือข่ายรณรงค์เลิกเหล้ากว่า 300 เครือข่าย

ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาจะอาศัยช่วงเวลา 3 เดือนของการเข้าพรรษาในการรณรงค์ ซึ่งจากการประเมินผลรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 สำนักบัญชีประชาชาติ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบคนไทยมีค่าใช้จ่ายในการดื่มเหล้าลดลง เช่นเดียวกับข้อมูลอุบัติเหตุช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน มีอัตราลดลงร้อยละ 9 โดยอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่ม หรือเมาแล้วขับลดลงร้อยละ25 ส่วนตัวชี้วัดหลายตัวยังไม่ชัดเจน เช่น ความสุขของครอบครัวที่เพิ่มขึ้น ความสมานฉันท์ในสังคม เป็นต้น ขณะที่ผลการประเมินรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบมีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา ร้อยละ 53.5 แบ่งเป็นผู้ที่งดเหล้าตลอดพรรษา ร้อยละ 31 และผู้ที่งดบางช่วงและลดการดื่มลง ร้อยละ 22.5 ซึ่งสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มลด ละ เลิก ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ประมาณจำนวนเงินโดยรวมที่ประเทศประหยัดได้ถึง 8,251 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร้อยละ 5 ตั้งใจจะเลิกดื่มตลอดชีวิต ส่วนเข้าพรรษาปีหน้า ยังคงมีผู้ดื่มเกือบ 2 ใน 3 ตั้งจะลด ลด เลิกเช่นเดิม

Advertisement

“นอกจากนี้ พบว่าในเดือนที่มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วยลดอุบัติเหตุจากทุกสาเหตุลงร้อยละ 9 ส่วนการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 25 และยังส่งผลให้การดื่มลดลงร้อยละ 10 สุดท้ายต้องขอบคุณภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จากทุกภาคส่วน ได้เข้ามีส่วนร่วมในการรณรงค์ จนเกิดผลต่อสังคมไทยอย่างหลากหลายและช่วยกันเดินหน้าต่อไป โดยโครงการนี้จะนำพาความสำเร็จและสิ่งดีๆ ในสังคมเข้ามาอีกมาก” ทพ.สุปรีดา กล่าว

ส่วนวิธีการช่วยเหลือคนเลิกเหล้านั้น นางสุมาลี โพธิ์สิทธิพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.หายโศก อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ที่ต้องการลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนติดเหล้าในชุมชน และทำงานขับเคลื่อนชุมชนคนสู้เหล้าควบคู่กับการทำงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เล่าว่าจุดเปลี่ยนเริ่มจากได้รู้จัก “สติบำบัด” ซึ่งเป็นการบำบัดโดยใช้จิตวิทยา นำเอาหลักเรื่องของสมาธิและสติมาใช้ในการบำบัด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้วิธีการอื่นช่วยเลิกเหล้าไม่ได้ผล โดยชุมชนจะร่วมกันคัดกรองผู้ที่ติดเหล้าอย่างหนัก ก่อนจะนำมาเข้าสู่โปรแกรมสติบำบัด แบ่งออกเป็น 8 กระบวนการ ซึ่งโปรแกรมเป็นการเปลี่ยนเจตคติของผู้ป่วย พัฒนาตนเอง ทำอย่างไรให้ตนเองมีสติในการดูแลตนเอง การเรียนรู้ที่จะสื่อสารและสนทนาอย่างมีสติ เพราะคนติดเหล้าส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องสัมพันธภาพ หูแว่ว ประสาทหลอน นอนไม่หลับ ทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบตัวและคนในครอบครัว

Advertisement

นางสุมาลี กล่าวว่า ยกตัวอย่างกรณี นายจันทกานต์ ฉะอ้อนศรี อายุ 52 ปี มีอาการติดเหล้าอย่างหนัก จนทำให้มารดากลายเป็นโรคซึมเศร้า เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควบคุมสติตนเองไม่ได้ ก่อนนำตัวเข้าสู่โปรแกรมสติบำบัดและอยู่ระหว่างฝึกสติ สมาธิ รับรู้กับเหตุการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ ทบทวนตนเองว่าทำให้คนรอบข้างและครอบครัวมีความทุกข์อย่างไร แล้วจะทำอย่างไรให้ตนเองมีความสุขมากขึ้น รวมถึงให้ตั้งเป้าหมายในชีวิต เพราะภายหลังเลิกเหล้าแล้วจะไม่กลับไม่ติดเหล้าอีก ซึ่งตอนนี้นายจันทกานต์เลิกเหล้าได้ 10 เดือนแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และกลายเป็นบุคคลตัวอย่างจากการทำงานเคลื่อนชุมชนคนสู้เหล้า เช่นเดียวกับผู้ที่เข้ามาบำบัดโปรแกรมสติบำบัดรายอื่น

“ฝากถึงคนอยากเลิกเหล้า หากมีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เชื่อว่าเราทำได้ เพียงแค่มีความตั้งใจเลิกเหล้า แล้ววันหนึ่งเราจะภาคภูมิใจที่สุดที่วันนี้ ตัวเราไม่ใช่เป็นคนที่สังคมรังเกียจ แต่กลายเป็นคนที่มีคุณภาพที่ครอบครัวและสังคมต้องการ” นางสุมาลี กล่าว

นายสมทรง ชุบไธสง อายุ 44 ปี ชาวบ้าน ต.หายโศก และปัจจุบันอยู่ระหว่างการรักษาในโปรแกรมสติบำบัด เปิดเผยว่า ตนเคยเข้าโรงพยาบาลถึง 6 ครั้ง สาเหตุมาจากการดื่มเหล้าอย่างหนัก แม้เข้าโปรแกรมพัฒนาสติบำบัดแล้วก็ยังเลิกไม่ได้ จนอุบัติเหตุครั้งล่าสุด เห็นถึงความรักของครอบครัว โดยเฉพาะแม่ที่อยู่เคียงข้างมาโดยตลอด ไม่ใช่เพื่อนฝูงที่เคยดื่มเหล้าด้วยกัน โดยสติบำบัดช่วยให้มีสติมากขึ้น ตนจึงเอาความผิดพลาดมาเป็นครูสอนตัวเอง และทำให้ตัดสินใจเลิกเหล้าเด็ดขาด โดยได้รับความช่วยเหลือในการบำบัดรักษาจาก รพ.สต.หายโศก ปัจจุบันเลิกเหล้าได้ 6 เดือนแล้ว และเมื่อเลิกเหล้าแล้ว ยังสามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วย ทั้งนี้ ตนได้ตั้งใจจะเลิกเหล้าไปตลอดชีวิต

นับเป็นความสำเร็จสำคัญของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image