สธ.เตือนระวัง! “พยาธิตืดหมู” แนะหิวบ่อย น้ำหนักลด ปวดท้อง อาเจียน ไปพบแพทย์

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวพบพยาธิตัวตืดออกมาจากร่างกายนั้น ขอให้ข้อมูลว่า โรคพยาธิตัวตืดพบได้ทั่วโลก เนื่องจากการกินเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีถุงซีสต์ ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ข้างใน โดยทั่วไปเรียกว่า เม็ดสาคู เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ซีสต์จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเกาะอยู่ที่ผนังลำไส้เล็กของคนสามารถอยู่ได้นานหลายปี ตัวเต็มวัยมีลำตัวแบนคล้ายริบบิ้น มีสีขาว ยาว 2 ถึง 3 เมตร หรือมากกว่า พยาธิดำเนินชีวิตครบวงจรในคน หมายความว่า สามารถโตเต็มวัย จนสืบพันธุ์และไข่ปนออกมาทางอุจจาระ บางครั้งอาจมีปล้องพยาธิหลุดปนออกมากับอุจจาระได้ หากไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม จะทำให้ไข่พยาธิออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นวงจรแพร่กระจายพยาธิต่อไปอีก

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า สำหรับอาการผู้ที่มีพยาธิตืดหมูในลำไส้ คือ หิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด นอกจากนั้นอาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนหรืออุจจาระบ่อย เนื่องจากเกิดจากการระคายเคืองต่อลำไส้ แต่ถ้าหากอาเจียนขย้อนปล้องแก่ของพยาธินี้ จากลำไส้ขึ้นไปที่กระเพาะ พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้ว ไชทะลุกระเพาะ หรือลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อ หรืออวัยวะต่างๆ เช่น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด และในช่องท้องอาจฝังตัวและมีถุงน้ำหุ้ม จะมีการแสดงอาการต่างๆ ที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งถุงซีสต์ ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด ถ้าถุงซีสต์อยู่ในสมองผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ถุงซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลัง ทำให้ความดันในสมองสูง อาจจะทำให้เกิดอาการชักได้

นอกจากนี้ นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า หมู หรือวัวติดเชื้อโดยกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระมนุษย์ซึ่งได้รับไข่พยาธิและไข่โตเป็นซีสต์ในกล้ามเนื้อหมูหรือวัว มักเกิดขึ้นในกรณีที่เลี้ยงระบบเปิดปล่อยให้หมู หรือวัวเดินไปมาบริเวณสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี ไข่พยาธิตืดหมูและตืดวัวสามารถแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ ตราบใดที่คนยังมีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ยังไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม และไข่พยาธิตัวตืดยังคงมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นเดือน

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการในการป้องกันโรคพยาธิตัวตืด คือเลือกรับกินอาหารที่สด ใหม่ และสะอาด ทั้งวัตถุดิบ และส่วนประกอบอาหารควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อหมูจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน กรณีเนื้อหมูจะต้องล้างทำความสะอาด และปรุงให้สุกด้วยความร้อน ไม่กินแบบสุกๆดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด ส่วนผัก ผลไม้ ต้องล้างผ่านน้ำหลายๆ รอบให้สะอาดก่อนกิน และล้างมือ ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร ก่อนปรุงอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ที่สำคัญควรถ่ายอุจจาระลงส้วม และเชิญชวนให้ทุกคนหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพของตนเอง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยกินอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เพื่อห่างไกลจากโรคทางเดินอาหาร

Advertisement

“ขอให้ประชาชนสังเกตตัวเอง หากสงสัยว่ามีพยาธิในร่างกาย หรือมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ถ้าไม่แน่ใจสามารถไปพบแพทย์ให้ทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคพยาธิตืดหมู ทั้งนี้เป็นการป้องกันการเกิดโรคพยาธิตัวตืดไม่ให้แพร่ไปสู่กับบุคคลอื่น เนื่องจากไข่พยาธิตืดหมูพร้อมที่จะติดต่อแพร่โรคได้ทันที และสามารถก่อให้เกิดโรคอย่างรุนแรงในคนได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสุขาภิบาลและระบบสุขภาพของไทยดีขึ้นมาก การขับถ่ายในส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาลไม่ถ่ายนอกส้วม หรือถ่ายลงสู่สิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ปัญหาการแพร่กระจายโรคพยาธิลดลง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.อัษฎางค์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image