เครือข่ายงดเหล้าตีแผ่กลยุทธ์ธุรกิจ “น้ำเมา” แอบแฝงใช้แบรนด์ดีเอ็นเอรุกหนักช่วงปีใหม่

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่โรงแรมเอบีน่าเฮาส์ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า แถลงเปิดตัวรายงานผลการวิจัย การรับรู้ของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่าน “แบรนด์ DNA” และสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน ตีแผ่กลยุทธ์การตลาดธุรกิจน้ำเมาใช้เครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม น้ำแร่ โซดา ตราบริษัท แอบโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หวังหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลส่งท้ายปีจะพบผู้ประกอบการธุรกิจน้ำเมาใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบรนด์ DNA จูงใจผู้บริโภคร่วมกิจกรรมลานเบียร์หรืองานสตรีทฟู้ด

ผศ.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า ตราเสมือนที่ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำเมานำมาใช้ ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตามหลักนิเทศศาสตร์ และการสื่อสารทางการตลาดจะเรียกว่า “แบรนด์ DNA” คือตราสินค้าที่นำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น จะมีแก่นหรือลักษณะสำคัญของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แฝงอยู่ ทำให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจ รับรู้ และจดจำได้ทันทีว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สอดคล้องกับผลวิจัยที่ทำการสำรวจใช้แบรนด์ DNA ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นทั้งน้ำแร่ โซดา น้ำดื่ม ตราบริษัท พบว่ากลุ่มตัวอย่างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เมื่อเห็นตราเสมือนจะรับรู้และจดจำได้ทันทีว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีผลในการจูงใจให้ดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อม

“การใช้แบรนด์ DNA โฆษณาเท่ากับว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เวลามีคนเห็นตราเสมือนก็คิดว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นหากจะบอกว่าไม่เจตนา คงไม่ใช่ การใช้กลยุทธ์การตลาดแบบนี้หากมองตามหลักสื่อสารการตลาดจัดว่าทำผิดในแง่จริยธรรมทางธุรกิจและจริยธรรมทางการตลาดของการแอบแฝงหรืออำพราง และหากมีหลักฐานยืนยันชัดเจนก็สามารถเอาผิดกับผู้ประกอบการได้” ผศ.บุญอยู่ กล่าว

Advertisement

ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า “การใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาลงโทษผู้ประกอบการที่ใช้ตราเสมือน ยังมีปัญหาการทำความเข้าใจเรื่องตีความ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน และควรพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้ครอบคลุมการนำเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปแก้ไขดัดแปลง หรือใช้เครื่องหมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

​ขณะที่ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า เครือข่ายจะนำรายงานวิจัยฉบับนี้มอบให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดในทุกจังหวัดต่อไป และจะติดตามการควบคุมตราเสมือนอย่างใกล้ชิด

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image