“จิตแพทย์” ชี้ฆาตกรรมต่อเนื่องในไทยเกิดจากการกระทำส่วนตัว ไม่ได้ป่วยทางจิต

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวกรณีคดีฆาตกรต่อเนื่อง ว่า ลักษณะและเหตุจูงใจที่สามารถทำให้คนร้ายก่อเหตุฆาตกรรมได้โดยมีลักษณะการกระทำอย่างต่อเนื่อง สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ 1.การกระทำอันเนื่องจากความคิด คือ เป็นบุคคลที่ป่วยทางจิตและมีความหลงผิด โดยมีอาการประสาทร่วมด้วย อาทิ ประสาทหลอน หูแว่วว่ามีคนมาสั่งให้ทำ บุคคลประเภทนี้คือผู้ป่วยทางจิต แต่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมาก จนไม่มีตัวเลขสถิติ หรืออาจเกิดจากความคิดที่เป็นการคิดยึดติดจากตัวผู้กระทำเอง เช่น การฆ่าคนต่างศาสนา เชื้อชาติ เพศสภาพ ซึ่งไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต บางทีอาจก่อเหตุลักษณะของการฆาตกรรมหมู่ กรณีประเทศนอร์เวย์ที่มีการยิงกราดเยาวชนที่มาเข้าค่ายร่วมงานที่รัฐบาลจัดขึ้นบนเกาะนอกกรุงออสโล

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า 2.การกระทำเนื่องจากเรื่องส่วนตัว ซึ่งไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต แต่เป็นการกระทำทางอาชญากรรมหรือความไม่รู้สึกสำนึกผิด โดยมีเหตุจูงใจจากหลายปัจจัยที่สามารถแบ่งได้ 4 รูปแบบ คือ 1.ความหื่นในกามและต้องการฆ่าปิดปาก 2.การชอบความรุนแรงในการทรมานเหยื่อ 3.การทำด้วยการต้องการใช้อำนาจ 4.การกระทำเพื่อผลประโยชน์ เช่น การเอาผลประโยชน์ในครอบครัวจึงต้องฆ่ามากกว่า 1 คนทำให้เป็นการฆาตกรรมต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายสมคิด พุ่มพวง อายุ 55 ปี ฆาตกรต่อเนื่องถึง 6 ราย เข้าข่ายการฆ่าในลักษณะใด นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ทางแพทย์ที่เคยรักษาตรวจสุขภาพทางจิตให้แก่นายสมคิด ได้ระบุว่านายสมคิดไม่ได้ป่วยทางจิต แต่มีปัญหาคือ การประกอบอาชญกรรมโดยไม่รู้สึกผิด ซึ่งในต่างประเทศหากมีเหตุร้ายแรงที่ไม่ใช่เพียงการฆ่าต่อเนื่อง ก็จะมีการประเมินว่าลักษณะการกระทำเช่นไร เช่น การกระทำโดยมีความรู้สึก หรือ กระทำโดยไม่รู้สึกผิด ซึ่งจะมีแนวโน้มในการก่อเหตุซ้ำได้อีก จึงทำให้เกิดเป็นฆาตกรรมต่อเนื่อง ทางกระบวนการยุติกรรมของต่างประเทศจะไม่มีการลดโทษให้แก่การก่อเหตุเช่นนี้

เมื่อถามต่อว่า หากการกระทำที่ไม่ได้เกิดจากการป่วยทางจิต สามารถรักษาบำบัดหรือหาทางแก้ไขได้หรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า หากไม่ได้เป็นผู้ป่วยจะรักษาได้ยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการสะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก คนเหล่านี้จะมีประวัติคล้ายกัน เช่น การถูกทอดทิ้ง การถูกใช้ความรุนแรง และเติบโตมาอย่างขาดการดูแล รวมถึงการมีพฤติกรรมการรุนแรงมาตั้งแต่เกิดเช่น การรังแกสัตว์ แกล้งเพื่อน

Advertisement

“ดังนั้นโดยหลักจึงมีการคุ้มครองเด็ก โดยใช้กฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่มาก เพราะจะเป็นการช่วยเด็กทั้งปัจจุบันและป้องกันไม่ให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงแบบอาชญากรรม หรือความรุนแรงในครอบครัว” นพ.ยงยุทธ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image