ถึงเวลา “น้ำบาดาล” รับมือภัยแล้ง 2563

ถึงเวลาน้ำบาดาลž รับมือภัยแล้ง 2563

สัญญาณการเกิดภัยแล้งปรากฏชัดขึ้นจากกระแสลมหนาว หรือความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ที่พัดทะลุทะลวง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลึกเข้ามาถึงภาคกลาง ปรากฏเป็นฤดูหนาวเต็มรูปแบบยาวนานประมาณ 7 วัน สำหรับคนภาคกลาง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ความหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเช่นนี้ไม่เกิดกับชาวกรุงมานานนับ 10 ปีแล้ว จึงถือเป็นความสุขกายในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับผู้คนที่ต้องอยู่กับอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี

แม้ลมหนาวระลอกดังกล่าวผ่านไปแล้ว และระหว่างที่กำลังรอลุ้นระลอกใหม่เข้ามา ความกังวลขั้นสุดสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจากปรากฏการณ์ลมหนาวที่เกิดขึ้นก็คือ สถานการณ์ภัยแล้งแบบสุดสุดกำลังจะคืบคลานเข้ามา

Advertisement

โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ชี้แจงความกังวลกรณีอากาศหนาวและปัจจัยที่จะส่งผลต่อสถานการณ์น้ำในอนาคตอันใกล้มาก คือตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปี 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงฤดูฝน ว่าลมหนาวทำให้ความชื้นในอากาศลดลง อากาศแห้ง น้ำในแหล่งน้ำมีอัตราการระเหยสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนไม่มีฝนตก และยังผลักดันแนวฝนทางภาคใต้ให้ต่ำลงไปยังประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกน้อยลงอีกด้วย

ประกอบกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีตัวเลขไม่ดีนัก

พบว่า เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการเก็บกักน้ำต่ำกว่า 30% มากถึง 9 เขื่อน จากทั้งหมด 35 เขื่อน อีกทั้งมีเขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% ในภาคเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 42 แห่ง ภาคตะวันออก 7 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคตะวันตกและภาคใต้อย่างละ 1 แห่งด้วยกัน ถือเป็นวิกฤตน้ำที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

Advertisement

วราวุธ ศิลปอาชา

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าต้องให้ทุกชุมชนในหมู่บ้านต้องเข้าถึงน้ำสะอาด ทั้งน้ำดื่มและน้ำใช้ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลการเข้าถึงแหล่งน้ำ ดังนั้น น้ำบาดาลจึงเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาน้ำกิน น้ำใช้ รวมไปถึงน้ำสำหรับการสร้างความมั่นคงทางการผลิต ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมไปถึงการเติมน้ำสู่ชั้นบาดาลเพื่อรองรับน้ำหลากในฤดูฝน โดยทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เชิญเครือข่ายน้ำบาดาลจากทั่วประเทศ ประกอบด้วย ช่างเจาะน้ำบาดาลวิศวกร นักธรณีวิทยา กลุ่มผู้ใช้น้ำจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มาหารือเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือภัยแล้ง ซึ่งตนเชื่อว่าน้ำบาดาลคือความหวังอันดับหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น อีกทั้งในอนาคตน้ำบาดาลก็จะเป็นแหล่งน้ำที่สร้างความมั่นคงทางด้านการเกษตรให้กับหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.กล่าวว่า ได้ไปตรวจพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พบว่า ปี 2563 จะแล้งกว่าทุกปีและแล้งนานยาวไปจนถึงเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศที่ลดลงมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ต้องปรับลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ล่าสุดอยู่ที่ 21% หรือ 509 ล้าน ลบ.ม. ใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 73.07 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าวิกฤตมาก ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ต่ำที่สุดในรอบ 53 ปี ตั้งแต่ก่อสร้างเขื่อน ขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนแม่กวง เขื่อนป่าสัก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด มีปริมาณน้ำน้อยมาก ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสัก รวมกันมีน้ำใช้ได้ประมาณร้อยละ 26-27 หรือ 4 พันกว่าล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์

 

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน 3 อันดับแล้งของประเทศไทย พบว่า ปี 2562 ประเทศไทย ประสบภาวะฝนแล้ง เป็นอันดับ 3 รองจากปี 2522 และ 2535 มีพื้นที่แล้งจัด จำนวน 16 จังหวัด ขณะที่น้ำด้านการเกษตรในเขตชลประทาน มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำการเกษตร 8 จังหวัด เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ ส่วนนอกเขตชลประทานมี 20 จังหวัด 54 อำเภอ 109 ตำบล เสี่ยงขาดน้ำเกษตร แบ่งเป็นภาคเหนือ 9 จังหวัด 35 อำเภอ 84 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด 13 อำเภอ 16 ตำบล ภาคกลาง 2 จังหวัด 4 อำเภอ 7 ตำบล และภาคตะวันตก 1 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล

ดังนั้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเร่งขุดเจาะน้ำบาดาลและเติมน้ำบาดาล โดยเฉพาะในแอ่งเจ้าพระยา 6 จังหวัดคือ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท แอ่งบาดาลจันทบุรี-ตราด 2 จังหวัดคือ จันทบุรี ระยอง เป็นต้น

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกนี้แบ่งเป็นน้ำในมหาสมุทร 97% กับแหล่งน้ำจืด 3% ในส่วนของ 3% ที่เป็นน้ำจืดนั้น เป็นน้ำแข็งและหิมะ 70% น้ำผิวดิน 1% และเป็นน้ำใต้ดินถึง 29% สำหรับปริมาณน้ำในประเทศไทย แบ่งเป็นปริมาณน้ำฝนตกเฉลี่ย 1,467 มิลลิเมตรต่อปี คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 754,730 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถนำมาใช้ได้ 45,386 ลบ.ม. ปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ในปัจจุบัน 14,741 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำบาดาลที่ยังคงเหลืออยู่ 36,645 ล้าน ลบ.ม. โดยเวลานี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีความพร้อมทั้งในเรื่องเครื่องมือ บุคลากร ที่จะเข้าไปขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำสะอาดขึ้นมาให้ประชาชนได้อุปโภค บริโภค รวมทั้งสำหรับใช้เพื่อการเกษตร สามารถบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ได้

”เรามีน้ำบาดาลที่นำมาใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบราว 4.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. และยังเหลือที่ยังไม่นำมาใช้อีกประมาณ 3.6 หมื่นล้าน ลบ.ม. จำนวนนี้เองสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้ โดยพื้นที่ที่อยู่ใกล้ริมน้ำจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งน้ำบาดาลมากที่สุด และเวลานี้เราสำรวจพบว่าพื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำบาดาลมากที่สุดคือ 36% รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21% ภาคเหนือ 14% ภาคใต้ 17% ภาคตะวันออก 4.7% ภาคตะวันตก 5.6% ที่น่ายินดีก็คือ ก่อนหน้านี้พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เดิมทีมีปัญหาเป็นพื้นที่วิกฤตแผ่นดินทรุดเพราะมีการขุดบ่อบาดาลกันมากเกินไป จนต้องออกข้อห้ามขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติมอีก เพราะจะไปซ้ำเติมปัญหาแผ่นดินทรุดนั้น ภายหลังจากมีการเฝ้าระวัง ควบคุม สังเกตการณ์และทดสอบ จนถึงบัดนี้พบว่าปัญหาดินทรุดในกรุงเทพฯจากการขุดบ่อบาดาลนั้นไม่มีแล้ว แสดงว่า พื้นที่ในกรุงเทพฯสามารถขุดบ่อบาดาลได้โดยไม่มีผลกระทบ”Ž อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าว

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีจุดจ่ายน้ำถาวร เป็นทั้งน้ำกินและน้ำใช้ เพื่อให้บริการกับประชาชนจำนวน 136 จุดทั่วประเทศ ประชาชนสามารถมารับน้ำได้เลย 24 ชั่วโมง และกำลังจะทำจุดจ่ายน้ำถาวรเพิ่มขึ้นอีก 64 จุด ในปี 2563 อีกทั้งจะทำเพิ่มอีก 1 พันจุด ทั่วประเทศในเร็วๆ นี้

และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังมอบของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนคือ จะทำโครงการน้ำริมทางแจกจ่าย 24 จุดทั่วประเทศให้ประชาชนที่สัญจรไปมาในพื้นที่ต่างๆ สามารถนำภาชนะทุกอย่างไปบรรจุได้ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image