“สาธิต” ป่วย “ชิคุนกุนยา” เจ้าตัวเข้าใจหัวอกคนไข้ชวน “วิ่งไล่ยุง” 10 มกราฯนี้

แฟ้มภาพ

รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.พลิกวิกฤตเป็นโอกาสหลังป่วยโรค “ไข้ปวดข้อยุงลาย” ต้องนอนพักรักษาตัวนาน 2 สัปดาห์ จัดกิจกรรม “วิ่งไล่ยุง” 10 มกราคมนี้ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา ที่มียุงลายเป็นพาหะ จึงเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานการเจ็บปวดของคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ จึงอยากใช้เหตุการณ์นี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการรณรงค์ ให้คนไทยร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อป้องกันครอบครัวหรือคนรอบข้างไม่ต้องป่วยด้วย 3 โรค จากยุงลาย ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา ด้วยการจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ “วิ่งไล่ยุง” เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศ หันมาสนใจกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยใช้กิจกรรมวิ่งเป็นการสื่อสาร หรือ คิก ออฟ (Kick Off) เพื่อปลุกกระแสการรณรงค์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 15.00 น. เส้นทางกระทรวงสาธารณสุข

นายสาธิต กล่าวถึงประสบการณ์ที่ป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายว่า เริ่มแรกตนรู้สึกเหมือนมีอาการเป็นไข้ และปวดตามข้อ จึงสันนิษฐานเองว่าน่าจะป่วยด้วยโรคดังกล่าว จึงไปพบแพทย์ ซึ่งขณะนี้กำลังลงพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อไปถึงแพทย์ได้ตรวจวัดไข้และเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อ พบว่ามีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส และพบว่าเกร็ดเลือดต่ำ แพทย์จึงเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย ซึ่งต่อมาตรวจเลือดยืนยันผลอย่างละเอียดเข้าได้กับโรคชิคุนกุนยามากกว่า จึงต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ และขณะนี้หายดีแล้ว

“กรณีของผมเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาดี เพราะมีประสบการณ์ตรงว่าทุกข์ทรมานแค่ไหนที่มีอาการปวดตามข้อ ถึงแม้ว่าผมจะแข็งแรง แต่ถูกยุงลายซึ่งหากินในช่วงเวลากลางวันกัดก็ป่วยได้ และไม่ทราบว่าถูกยุงกัดที่ไหน เพราะเดินทางบ่อยทั้งภาคใต้ และ จ.ระยอง ที่สำคัญหมอบอกว่า เคสผมน่าแปลกตรงที่มีเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งเข้าข่ายโรคไข้เลือดออกร่วมด้วย แต่เมื่อตรวจละเอียดแพทย์ยืนยันว่าไม่ใช่ เป็นเพียงไข้ปวดข้อยุงลายอย่างเดียว จากความน่ากลัวนี้ จึงขอเชิญชวนทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแล ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เช่น จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า แม้กระทั่งเศษพลาสติกเล็กๆ ที่มีน้ำขังยังมีโอกาสเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ได้ ที่สำคัญในช่วงฤดูแล้งนับเป็นโอกาสทองในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่เกาะติดอยู่ตามภาชนะถูกทิ้ง เนื่องจากไข่ยุงลายสามารถอยู่ในสภาวะไร้น้ำได้นานหลายเดือน เมื่อฝนตกไข่ยุงก็จะฟักตัวและกลายเป็นพาหะนำโรคได้” นายสาธิต กล่าวและว่า เป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย จึงถือวิกฤตในครั้งนี้เชิญชวนทุกคนไปออกกำลังกายวิ่งไล่ยุงด้วยกัน ในวันที่ 10 มกราคมนี้ พร้อมกันทั่วประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image