‘โนนดินแดง’ โมเดล มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“ในพื้นที่ดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านลำนางรอง มีเด็กเล็กวัยแรกเกิด-3 ปี ประมาณ 200 คน ร้อยละ 60 เป็นเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่า ตายาย เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานในเมือง บางบ้านคนเฒ่าคนแก่ต้องเลี้ยงหลานๆ มากถึง 7 คน ส่งผลเรื่องการดูแลที่ไม่เหมาะสม ทั้งอาหาร พัฒนาการ และสิ่งแวดล้อม ที่พบมากขึ้นคือ ปู่ย่าจะตามใจเด็ก พอเด็กซนก็จะให้อยู่กับโทรศัพท์มือถือผลที่ตามมาคือ ทำให้เด็กสมาธิสั้น ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กมาก” หมอยา หรือ กันยา มาประโคน เจ้าพนักงานสาธารณสุข รพ.สต.บ้านลำนางรอง เล่าถึงพัฒนาการของเด็กในวัยแรกเกิดถึง 3 ปี ในชุมชน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี หรือช่วงวัยที่เราเรียกว่า “มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต” ที่เด็กจะมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย การรู้คิด-สติปัญญา และอารมณ์-สังคม อย่างรวดเร็ว พัฒนาการต่างๆ นี้จะเป็นพื้นฐานของชีวิตเด็ก กลายเป็นบุคลิกลักษณะเฉพาะเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

เพื่อให้เด็กในวันแรกเกิดถึง 3 ปี โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากไร้ในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการดูแลและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกต้อง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ดำเนิน “โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี” (Go Baby Go : Parenting Programme) ขึ้น

Advertisement

“หลักคิดสำคัญในการดำเนินงานโครงการนี้คือ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามวัย ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในชุมชน และการสร้างเครือข่ายระดับชุมชนที่จะช่วยกันส่งเสริมและขยายผลความรู้ในการดูแลเด็กเล็กๆ สู่พ่อแม่คนอื่นๆ ในชุมชนต่อไปด้วย เราเริ่มโครงการมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว โดยเชิญบุคลากรด้านสาธารณสุขระดับชุมชนมาร่วมเรียนรู้ และเพิ่มทักษะในการเป็นวิทยากรผู้เอื้อกระบวนการเพื่อนำความรู้ไปส่งต่อสู่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในระดับชุมชน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนร่วมกับ อสม. ลงมือจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้สู่พ่อแม่ในชุมชนต่อไป และท้ายที่สุดจะเป็นการติดตามพัฒนาการของเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ” สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวถึงกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี

หลังจากร่วมเรียนรู้กับโครงการมากว่าครึ่งปี วันนี้ถึงเวลาที่หมอยา และ อสม. ของ รพ.สต.บ้านลำนางรอง และ รพ.สต.บ้านหนองเสม็ด อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ จะนำความรู้จากคู่มือผู้เอื้อกระบวนการหลักสูตรเสริมสร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี และคู่มือพัฒนาการเด็กและแนวทางการเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย ที่ได้ย่อยให้ง่ายขึ้นแต่ยังเข้มข้นด้วยสาระ มาถ่ายทอดสู่พ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ วัยไม่เกิน 3 ปีในชุมชน

ที่ รพ.สต.บ้านลำนางรอง เป็นการถ่ายทอดความรู้เรื่องปฏิกิริยาของเด็กและการตอบสนองของผู้เลี้ยงดู แนวทางการเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย การรู้คิดหรือสติปัญญา และอารมณ์-สังคม ส่วนที่ รพ.สต.บ้านหนองเสม็ด เป็นการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในบ้าน ความอยู่ดีมีสุขเป็นหน้าที่หลักของครอบครัว การวางแผนงานของชุมชนเพื่อสนับสนุนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกอย่างต่อเนื่อง และการเล่นและการสื่อสาร ซึ่ง อาจารย์แป้ง หรือ ศิริยุภา เลาหภิญโญจันทรา ผู้จัดการโครงการ ได้พาแม่ๆ ทดลองทำของเล่นส่งเสริมพัฒนาเด็ก ไม่ว่าจะเป็นแป้งโดว์ โมบาย จิ๊กซอว์ สำหรับนำไปใช้ในการเล่นกับลูกๆ

นอกจากการถ่ายทอดความรู้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ที่ร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี ยังได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านที่มีเด็กเล็กๆ ในวัยไม่เกิน 3 ขวบปี เพื่อการติดตามพัฒนาการ และถามไถ่สารทุกข์สุกดิบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทักษะผู้เอื้อกระบวนการให้แก่เครือข่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กด้วย

กันยา เล่าความรู้สึกและประโยชน์ที่ได้รับว่า ทั้งความรู้และทักษะ และการได้ทำซ้ำๆ ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ โครงการยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เครือข่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นกำลังสำคัญส่งต่อความรู้ไปถึงพ่อแม่ทุกๆ คน

ในส่วนของแม่ลูกอ่อนที่ได้มีโอกาสมาร่วมการอบรมความรู้การเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี พัชรินทร์ นามสมมติ ชาวบ้านในพื้นที่ อ.โนนดินแดง เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า มีลูกคนแรก ขณะนี้อายุได้ 4 เดือน พอได้เข้าอบรมการเลี้ยงดูเด็กกับหมอยา กับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ก็รู้สึกดีใจมากๆ

“ได้รู้วิธีการเลี้ยงดูลูก การเล่น การพูด การจัดบ้านให้เหมาะกับเด็กๆ ด้วย สำหรับการเรียนจะแบ่งเป็นเนื้อหาหน่วยย่อยๆ ทำให้เราเข้าใจได้ และมีเวลานำสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ในการเลี้ยงลูกของเรา เดือนหน้าก็ต้องกลับไปทำงานในเมืองแล้ว ฝากลูกไว้กับตายาย แต่ก็เอาสิ่งที่ได้เรียนไปบอกให้พ่อกับแม่ เพื่อจะได้รู้วิธีการเลี้ยงหลานอย่างเหมาะสมต่อไป” พัชรินทร์ กล่าวทั้งน้ำตา เมื่อคิดถึงวันที่ต้องจากลูกน้อยไปทำงาน

โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี ดำเนินการในพื้นที่โครงการพัฒนา ของมูลนิธิศุภนิมิตฯใน 11 ตำบล 6 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.มุกดาหาร จ.บุรีรัมย์ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กเล็กในวัยแรกเกิดถึง 3 ปี และมีปัญหาด้านการพัฒนาการในอัตราสูงจนต้องเฝ้าระวัง โดยมีปลายทางที่คาดหวังให้เกิดขึ้นคือ เด็กทารก เด็กเล็กก่อนวัยเรียน และเด็กปฐมวัย ได้มีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์-สังคมอย่างเหมาะสม

สำหรับผู้ที่สนใจความรู้พัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็ก มูลนิธิศุภนิมิตฯ และ สสส. ได้จัดทำ “หนังสือคู่มือพัฒนาการเด็กและแนวทางการเลี้ยงดูเด็ก” เผยแพร่สำหรับบุคคลทั่วไปด้วย โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ https://worldvision.or.th/dl/parentingchild.html

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image