กรมพัฒน์ฯ เจาะเขต กทม. แจงสิทธิส่งเสริมฝีมือแรงงานสถานประกอบการกว่า 6,700 แห่ง

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานการสัมมนาชี้แจงสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่โรงแรมรอยัล เบญจา ว่า ต้องการชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ วิธีการยื่นขอรับรองหลักสูตรการฝึก เพื่อนำไปประเมินเงินสมทบ รวมถึงการนำค่าใช้จ่ายไปใช้ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ จำนวน 6,783 แห่ง แบ่งเขตรับผิดชอบการให้บริการสถานประกอบกิจการเป็น 6 พื้นที่ ได้แก่ สำนักงาน (สนง.) พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ดินแดง 9 เขต ได้แก่ ดินแดง วังทองหลาง ห้วยขวาง ราชเทวี พญาไท ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร และ สัมพันธวงศ์, สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 หลักสี่ 7 เขต ได้แก่ หลักสี่ บางเขน จตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว สายไหม และดอนเมือง, สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 มีนบุรี 9 เขต ได้แก่ มีนบุรี บึงกุ่ม บางกะปิ ประเวศ สะพานสูง คันนายาว คลองสามวา ลาดกระบัง และหนองจอก

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 บางแค 8 เขต ได้แก่ ตลิ่งชัน บางแค บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางพลัด ภาษีเจริญ หนองแขม และทวีวัฒนา, สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ราษฎร์บูรณะ 7 เขต ได้แก่ จอมทอง บางขุนเทียน ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางบอน และคลองสาน และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร (สพร.13 กท.) 10 เขต ได้แก่ วัฒนา ปทุมวัน บางนา พระโขนง สาทร บางรัก บางคอแหลม คลองเตย สวนหลวง และยานนาวา

Advertisement

“การชี้แจงในครั้งนี้ จะช่วยให้ตัวแทนจากสถานประกอบกิจการมีความเข้าใจมากขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้การรับรองหลักสูตรดังกล่าวมีความรวดเร็วขึ้น” นายธวัช กล่าว

ด้านนางพรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการ สพร.13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปก.หลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนพนักงานรับผิดชอบ พนักงานใหม่จึงขาดความรู้ความเข้าใจ และบางแห่งพนักงานมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการยื่นรับรองหลักสูตรการฝึกอบรม จึงพบปัญหาหลักสูตรที่ยื่นไม่ผ่านการรับรอง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สามารถใช้ยกเว้นภาษีเงินได้ต่อสรรพากรด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบกิจการ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว มีความเข้าใจตรงกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image