สธ.เผย “กระท่อม” สรรพคุณทางยามาก แต่ยังอยู่ในขั้นรวบรวมข้อมูล

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัด สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำวาระเรื่องพืชกระท่อมเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมด้วย

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในการประชุมได้มีการอนุมัติกัญชาที่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ให้ดำเนินการปลูกและสกัดเพื่อทำยาในอีก 6 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร 2.มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม 3.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร 4.มหาวิทยาลัยพะเยา 5.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง และ 6.วิสาหกิจชุมชนรักจังฟาร์มเมล่อน ที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบในการปลูก สกัด วิจัย การทำแพทย์แผนไทย หรือการทำสารสกัด ถือเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ในการใช้ทางการแพทย์และการวิจัย

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในส่วนของพืชกระท่อมนั้น การประชุมวันนี้เป็นการรายงานความก้าวหน้าของอนุกรรมการที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการควบคุมชุดนี้มาตั้งแต่ปี 2556 และได้มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้จึงได้พิจารณาเรื่องมาตรการกระท่อม และรายงานผลการประชุมอนุกรรมการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ได้ข้อสรุปว่า สถานะของพืชกระท่อมในขณะนี้ยังจัดอยู่ในสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยจะมีการควบคุมตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และตามกฎหมาย อนุกรรมการจะต้องศึกษาในหลากหลายมิติ ทั้งทางสังคม กฎหมาย และเศรษฐกิจ และพบว่าพืชกระท่อมเป็นการใช้ทางการแพทย์ได้ดีมาก และขณะนี้ได้รวบรวมตำรับยาแพทย์แผนไทยที่เกี่ยวกับพืชกระท่อมอยู่ทั้งหมด 7 ตำรับ ในการรักษาโรคบิด ปวดท้อง ท้องเสีย” นพ.ไพศาล กล่าวและว่า ส่วนในเชิงสังคมและในวิถีพื้นบ้านนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้เผยผลการศึกษาพื้นที่ตัวอย่างการทำโครงการวิจัยที่ ต.น้ำพุ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ในการครอบครองพืชกระท่อมการใช้พืชกระท่อมตามวิถีชีวิต โดยมีการทำประชาคมและการใช้ธรรมนูญสุขภาพในการใช้และควบคุมพืชกระท่อม จุดประสงค์คือ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่ในส่วนของโครงการนี้จะต้องมีการปรับแก้เพิ่มเติมในด้านข้อมูลเนื่องจากเป็นเรื่องของส่วนรวม ไปจนถึงการจัดทำข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความคิดเห็นไปแล้ว

Advertisement

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในส่วนของการวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เรื่องการใช้พืชกระท่อมทางการแพทย์ และการใช้ทดแทนสารเสพติดอื่นๆ ซึ่งงานวิจัยนี้จะต้องต่อเนื่องไป คณะกรรมการจึงมอบให้อนุกรรมการชุดนี้ที่มีรองเลขาธิการ อย.เป็นประธาน จึงขอให้รวบรวมงานวิจัยและการส่งผลกระทบ เช่น การปกครอง การตำรวจ ทางคดีความต่างๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับที่ 7 ที่ใช้กับกัญชาและพืชกระท่อมนั้น สามารถนำพืชเหล่านี้มาใช้ทางการแพทย์และใช้ในพื้นที่ชุมชนเช่นเดียวกับใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากชุมชนใดต้องการดำเนินการตามแบบ อ.น้ำพุ จ.สุราษฎร์ธานี จะต้องทำอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 58/2 ระบุว่าพื้นที่ใดที่ ป.ป.ส.เห็นว่าต้องกำหนดพื้นที่เพื่อทำการวิจัย จะต้องเป็นความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากจะต้องเลือกพื้นที่ที่มีประวัติการใช้อยู่ และจะต้องเป็นการมีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้มีเพียงพื้นที่เดียวคือ ต.น้ำพุ

“หากเราไปชี้พื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่พร้อม ไม่เอา ไม่มีส่วนร่วมอะไรก็ไม่ออกแน่” นพ.ไพศาล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image