คาดโทษ “รพ.เอกชน” ปฏิเสธ-เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเอาผิดตาม กม.

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สถานพยาบาลอันเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนในยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งนอกจากการควบคุมและดูแลสถานที่ ผู้ให้บริการ ยาและเวชภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดแล้ว การส่งต่อผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะการส่งต่อผู้ป่วยล่าช้าไปแม้เพียงนาทีเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

นพ.ธเรศ กล่าวว่า โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน ซึ่งการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานในการส่งต่อผู้ป่วยด้วยยานพาหนะของสถานพยาบาลนั้น สธ.ได้ออกประกาศกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2545) เรื่องมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งถือปฏิบัติให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้รับอนุญาต และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องส่งต่อผู้ป่วยด้วยยานพาหนะและวิธีการที่เหมาะสมปลอดภัย ยานพาหนะในการส่งต่อผู้ป่วยจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีพที่จำเป็น อาทิ ชุดใส่ท่อหายใจ ชุดให้ออกซิเจน เครื่องวัดความดันโลหิตและหูฟัง เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ มีความมั่นคงแข็งแรงและมีความสะดวกสบายต่อผู้ป่วยในการเดินทาง

“ทั้งนี้หากเป็นกรณีการรับผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน จะต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพมาดูแลผู้ป่วยด้วยทุกครั้ง หากสถานพยาบาลปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมให้ยานพาหนะในการขนส่งผู้ป่วยมีอุปกรณ์ที่จำเป็นหรือจัดแพทย์ออกไปให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินในระหว่างการนำส่งจากที่พักมายังสถานพยาบาลหรือนำส่งระหว่างสถานพยาบาลด้วยกัน ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการฯ กล่าวว่า เมื่อนำส่งผู้ป่วยถึงสถานพยาบาลแล้ว ขอให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลควบคุม และดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยให้พ้นอันตรายและปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด มีการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ โดยใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหลักในการประเมิน เพื่อให้การประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) เป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งหากผลการประเมินพบว่าผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สถานพยาบาลจะต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ

Advertisement

“หากพบสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากอยู่ในเขต กรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. โทร. 0 2193 7057 และในส่วนภูมิภาคร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ทพ.อาคม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image