สคอ.ห่วงเจ็บ-ตายปีใหม่ แนะดื่มไม่ขับ- ลดเร็ว-พักผ่อนเพียงพอ

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 สถิติอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลปีใหม่ พบการเกิดเหตุจำนวน 3,791 ครั้ง บาดเจ็บ 3,892 คน เสียชีวิต 463 ราย และย้อนหลัง 3 ปี พบผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,364 ราย บาดเจ็บ 12,025 คน ขณะที่ข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ยังระบุว่าจุดเกิดเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 (27 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562) พบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับถนนทางตรงร้อยละ 64.89 ถนนทางโค้ง 19.28 และทางแยก 13.35 สาเหตุหลักจากดื่มแล้วขับสูงถึงร้อยะ 30.35

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2563 รัฐบาลได้กำหนดให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน คือ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2562-วันที่ 2 มกราคม 2563 รวม 7 วัน ทุกคนต่างมุ่งหวังที่จะใช้ช่วงเวลาปีใหม่นี้เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปเฉลิมฉลอง บางคนโชคดีได้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวที่กลับไม่ถึงบ้าน เพราะความประมาท ขาดสติ ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว จนทำให้เมื่อเกิดอุบติเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จึงขอให้ทุกคนร่วมลดความเสี่ยง โดย 1.ดื่มไม่ขับ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ 50-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่ากับเบียร์ 1-2 กระป๋อง ทำให้ตัดสินใจช้าลง 1 วินาที สายตาพร่ามัว ทัศนวิสัยการมองลดลง หากถูกจับมีอัตราโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล

2.ลดเร็วลดเสี่ยง รถยนต์ที่ขับด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 60% 3.สวมหมวกนิรภัย ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ 39% ลดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 58% และ 4.คาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตลงได้ถึง 60%

“นอกจากนี้ การเดินทางต้องเตรียมพร้อมร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากต้องขับรถทางไกล อาจทำให้เกิดการวูบหลับในขณะขับรถได้ ซึ่งควรสังเกตอาการของสัญญาณเตือนหลับใน ได้แก่ หาวบ่อยและต่อเนื่อง กระพริบตาถี่ มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร ใจลอยไม่มีสมาธิ รู้สึกหนักศีรษะ หงุดหงิด กระวนกระวาย ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมา การป้องกันคือ นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมง อย่างน้อย 2 คืนก่อนวันเดินทาง ถ้าเกิดการง่วงให้นอนจอดพัก 15-20 นาที กินอาหารแต่พอดีอย่าอิ่มเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงได้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จิบน้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่าย และให้ตรวจสภาพรถและคนขับให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ ป้องกันการหลับใน ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ และควรมีเบอร์ฉุกเฉินเพื่อใช้ติดต่อเมื่อเกิดเหตุ คือ 1669 การแพทย์ฉุกเฉิน 191 แจ้งเหตุด่วน-เหตุร้าย(ตำรวจ) 1115 ตำรวจท่องเที่ยว 1146 กรมทางหลวง 1197 ข้อมูลการจราจร 1543 อุบัติเหตุบนทางด่วน เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image