สธ.เพิ่มมาตรการกำกับดูแลเชื้อโรค “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ต้องขออนุญาตผลิต-ขาย-เคลื่อนย้ายหมู

จากกรณีสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ และมีการรายงานการระบาดโรคในหลายประเทศ แต่ยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทยนั้น

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สธ.มีความห่วงใย เนื่องจากเชื้อ African swine fever virus (ASFV) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกร ซึ่งมีหมูป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง และสามารถปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากเนื้อสุกร โรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วยและตายเกือบร้อยละ 100 ซึ่งหลายประเทศได้เพิ่มความเข้มงวดและวางมาตรการรับมือกับโรคนี้ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เล็งเห็นความสำคัญของการวางมาตรการทางกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ จึงได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้านชีวภาพ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีโอกาสหลุดลอดเข้ามาในประเทศไทย โดยที่ประชุมคณะกรรมการเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการ สธ. ออกประกาศเพิ่ม ความเข้มงวดในการครอบครองเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยแก้ไขระดับความเสี่ยงและความอันตรายของเชื้อโรคดังกล่าวในประกาศกระทรวง เรื่อง รายการเชื้อโรคที่ประสงค์ควบคุมตามมาตรา 18 พ.ศ.2561 จากปัจจุบันเชื้อ ASFV เป็นเชื้อโรคกลุ่มที่ 2 เป็นเชื้อโรคกลุ่มที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตในการดำเนินการผลิต ขาย มีไว้ในครอบครอง นำเข้า ส่งออก และนำผ่านทุกครั้ง และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำกัดการครอบครองเชื้อ ASFV โดยกำหนดให้การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเชื้อ ASFV ให้ดำเนินการได้เฉพาะในห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ กรณีหน่วยงานอื่นที่ประสงค์จะดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อ ASFV ให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเชื้อโรคและพิษจากสัตว์โดยคำแนะนำของกรมปศุสัตว์

Advertisement

“นายอนุทินได้ลงนามในประกาศกระทรวงเรื่อง รายการเชื้อโรคที่ประสงค์ควบคุมตามมาตรา 18 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ สธ.ดังกล่าวแล้ว ซึ่งประกาศนี้ให้ใช้ผลบังคับแล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image