ปี’63 แนวโน้ม ‘ไข้เลือดออก-ชิคุนกุนยา’ พุ่ง สธ.จัด ‘วิ่งไล่ยุง’ 10 ม.ค.พร้อมกันทั่วปท.

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศเตรียมความพร้อมจัด “วิ่งไล่ยุง” ในโครงการรณรงค์ชุมชนปลอดยุงลาย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2563

นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังพบลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในโรงเรียนและวัด มีความเสี่ยงเป็นแหล่งแพร่ระบาดของทั้ง 2 โรคได้ สธ.จึงได้ให้ทุกจังหวัดเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองก่อนเช้าสู่ฤดูการระบาด เนื่องจากไข่ยุงลายสามารถอยู่ได้เป็นปี โดยเฉพาะตามภาชนะ เช่น โอ่ง แจกัน จานรองตู้กับข้าว จานรองกระถางตันไม้ ยางรถยนต์ ถังเก็บน้ำในห้องน้ำที่มีน้ำขังจะมีไข่ยุงเกาะ เมื่อเข้าหน้าฝนจะฟักตัวเป็นยุงลาย ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมที่จะต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ตัดวงจรชีวิตของยุงลาย ลดการแพร่ระบาดของโรค

นายสาธิต กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักสาธารณสุขทุกจังหวัด (สสจ.) ดำเนินการ 1.จัดกิจกรรมรณรงค์ชุมชนปลอดยุงลาย “วิ่งไล่ยุง” สร้างกระแสการป้องกันควบคุมโรคในช่วงก่อนการระบาด เดือนมกราคม – มีนาคม 2563 2.ประสานท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนร่วมจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” ต่อเนื่องตลอดปี ในโรงเรียน วัด โบสถ์ มัสยิด สถานที่ราชการ และสถานพยาบาล 3.ติดตามสถานการณ์และพื้นที่เสี่ยง สนับสนุนท้องถิ่นและอำเภอเสี่ยงสูงจัดทำแผนรับการระบาดในปี 2563 ตั้งแต่ก่อนเช้าฤดูฝน 4.สถานพยาบาลทุกแห่ง จัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ให้ทราบแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 5.สื่อสารความเสี่ยง สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันยุงกัด อาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ นอกจากนี้ ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีไข้สูงนานเกิน 2 วันอาจเป็นไข้เลือดออก ให้รายงานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาล เพื่อป้องกันควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว

Advertisement

“ขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำและยุงลายในบ้านคนเอง และร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลดโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย “วิ่งไล่ยุง” ระยะทาง 5 กิโลเมตร ในวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 16.00 – 18.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี และที่จังหวัดต่างๆ จัดขึ้นสร้างกระแสการป้องกันโรคจากยุงลาย” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กล่าวว่า โดยสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 17 ธันวาคม 2562 พบการเกิดโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคในประเทศไทยอันดับที่ 1 คือ โรคไข้เลือดออก มีจำนวนผู้ป่วย 125,235 ราย เสียชีวิต 131 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง นับว่าเป็นการระบาดที่รุนแรงทั้งในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง โดยกลุ่มอายุของผู้ป่วยที่เสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 5-14 ปี จากการพยากรณ์โรคในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นถึง 147,361 ราย ซึ่งมากกว่าปีนี้ จึงมีความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมในการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีอำเภอเสี่ยงสูงถึง 224 อำเภอ อันดับที่ 2 โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) เป็นโรคที่ระบาดในทุกภาคของประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วย 11,046 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 4 เท่าและมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับจังหวัดที่มีความเสี่ยงของโรคนี้ คือ กรุงเทพมหานคร สุราษฏร์ธานี สมุทรสาคร เพชรบุรี และระยอง โดยโรคนี้จะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 25-34 ปีในผู้ที่ทำอาชีพสวนยาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image