กรมสวัสดิการแรงงานยันตัวเลข “เลิกจ้าง” ไม่น่าวิตก เชื่อปี’63 เศรษฐกิจแค่ชะลอตัว

กรณีที่มีเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ใช้แรงงานระบุว่า ภาคเอกชนที่มีการปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานส่งท้ายปีพร้อมพร้อมกันหลายโรงงาน อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนจนต้องปิดกิจการและบางโรงงานไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานตามกฏหมาย พร้อมทั้งระบุว่ากรณีดังกล่าวมีสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับสหภาพแรงงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีการค้า (GSP) กับรัฐบาลไทยนั้น

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) แถลงว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างลูกจ้าง และการปิดกิจการ รวมทั้งสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานอย่างใกล้ชิด จากการตรวจสอบตัวเลขลูกจ้างยื่นคำร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีสถานประกอบการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 ราย ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบและมายื่นหนังสือร้องเรียน 5,619 ราย เมื่อเทียบแล้วพบว่าปี 2562 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 67.55 ลูกจ้างได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.09 หากเทียบตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561 พบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการ 296 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,101 ราย ส่วนเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการว 365 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2,870 ราย

“ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่นับรวม 2 กรณีที่เพิ่งมีการเลิกจ้างล่าสุด คือ จ.ชลบุรี ที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 ราย และ จ.สมุทรสาครที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 997 ราย จากข้อมูลผู้ประกันตนที่เข้าสู่ระบบตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า มีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคม 71,917 ราย และมีผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง 27,859 ราย เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ประกันตนใหม่ที่เข้าสู่ระบบจะสูงกว่าจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 44,058 ราย แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเลิกจ้าง มีการปิดกิจการ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการเปิดกิจการและมีการจ้างงานเพิ่มเช่นเดียวกัน” นายอภิญญา กล่าว

นายอภิญญา กล่าวว่า สำหรับกรณีการเลิกจ้างล่าสุด 1.บริษัทเซอิชิน จ.ชลบุรี พนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย 50 ราย ไว้เรียบร้อย เนื่องจาก 13 ราย ที่จ่ายไปแล้วนั้น นายจ้างสามารถรับภาระค่าชดเชยได้จึงได้ทำการชำระค่าชดเชยเรียบร้อยแล้ว แต่ในอีก 50 ราย ที่ยังไม่ได้รับเนื่องจากมีอัตราค่าชดเชยสูง นายจ้างยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายได้ 2.บริษัท มิซูโน จ.พระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กรณีการกระทำไม่เป็นธรรม จากการเลิกจ้างแรงงาน 32 ราย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ และ 3.บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด จ.สมุทรสาคร พนักงานตรวจแรงงานได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าบริษัทได้จ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย มีลูกจ้างทั้งสิ้น 997 ราย แต่ 299 ราย ได้รับเงินแล้ว ส่วนลูกจ้างที่เหลือบริษัทจะโอนเข้าบัญชีภายในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisement

สำหรับข้อกังวลกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าการปิดกิจการของสถานประกอบกิจการเป็นการใช้โอกาสในการทำลายสหภาพแรงงานนั้น นายอภิญญา กล่าวว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้ให้สิทธิในการรวมตัวของลูกจ้างในรูปแบบของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน กสร. ได้ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในรูปแบบทวิภาคีในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวได้มีคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่จะพิจารณากรณีที่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างของสถานประกอบกิจการทั้ง 2 แห่ง คือ บริษัท มิซูโนฯ และบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ฯ ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากยังคงต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ทั้งในเรื่องปัจจัยภายในของสถานประกอบกิจการและสภาพเศรษฐกิจ แต่หากลูกจ้างเห็นว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ก็สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้คณะกรรมการฯ วินิจฉัยชี้ขาดภายใน 90 วัน นับแต่วันยื่นคำร้อง

นายอภิญญา กล่าวว่า ในส่วนของกรณีที่สหรัฐตัดจีเอสพีใน 573 รายการ จากทั้งหมด 1,300 รายการ ในเดือนเมษายนนั้น จากการตรวจสอบพบว่า การประกอบกิจการของสถานประกอบการไม่ได้เกี่ยวข้องกับรายการสินค้าที่ถูกตัดแต่อย่างใด และว่า กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ใช้มากกว่า 40 ปี การจะเลิกสถานประกอบการเพื่อที่จะทำลาย การรวมตัวของลูกจ้างในสถานประกอบการจึงเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการที่จะสอบสวนเพื่อให้ทราบถึงการเชื่อมโยง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบกิจการค้ามาเป็นระยะเวลาพอสมควรจะมาประกาศเลิกกิจการ และไปตั้งกิจการใหม่ในลักษณะเดิม อาจจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของผู้บริหาร รวมทั้งชื่อเสียงที่ได้ทำมาจะไม่ได้รับความเชื่อถือ พูดง่ายๆ คือ ได้ไม่คุ้มเสีย แต่หากนายจ้างทำจริง ก็ยังไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปี 2563 จะมีเลิกจ้างมากขึ้น กระทรวงแรงงานเตรียมรับมืออย่างไร นายอภิญญา กล่าวว่า จากตัวเลขในระบบยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าจะเลิกจ้างมากกว่าปีที่ผ่านมา และอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า เดือนกุมภาพันธ์ พ.ร.บ.งบประมาณ จะมีการประกาศใช้ และเมื่อมีการประกาศใช้แล้ว งบประมาณที่รัฐบาลจะออกมาสู่ระบบในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมีผล จึงมองว่าเศรษฐกิจปีหน้าอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดหากเลวร้ายที่สุดก็อาจจะเท่ากับปีนี้ ดังนั้นปีงบประมาณ 2563 จะมีการชะลอตัว แต่ว่าอัตราการเพิ่มอาจจะไม่มากแต่ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image