‘หมอธีระวัฒน์’ ส่ง 5.7 หมื่นรายชื่อแบน 3 สารเคมีให้ ‘อนุทิน’ ชงรัฐบาลยกเลิกใช้ทันที

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับมอบหนังสือเร่งรัดรัฐบาลยุติการใช้สารเคมีจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาลัย และในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่า สธ. และ รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และอดีตคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมด้วยตัวแทนของสภาวิชาชีพ และองค์กรผู้แทนประกอบอาชีพทางการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข พิจารณายกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 สาร ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส พร้อมทั้งมอบเอกสารปิดผนึกรายชื่อผู้แสดงความคิดเห็นของแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล กว่า 4,000 รายชื่อ และรายชื่อประชาชนจาก chang.org อีกกว่า 53,000 รายชื่อ ในการยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 สาร ด้วย

 

นายอนุทิน กล่าวว่า เสียงของตนเองอาจจะเหมือนมีประเด็นทางการเมืองแต่เสียงของทางการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และประชาชนน่าจะเป็นเสียงที่ดังที่สุด และไปถึงประชาชนมากที่สุด ตนเองไม่มีอิทธิพลเหนือองค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ได้ ในฐานะของ สธ. จะยืนยัน การตัดสินใจและมีนโยบายต่างๆได้นั้นจะต้องมีข้อมูล จากปลัดสธ. รองปลัดสธ. อธิบดี นำมาเสนอและมีการร่วมกันตัดสินใจ และถึงแม้ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติอย่างไรก็ตาม ทางสธ.ก็ยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมซึ่งเราทำอะไรเหนือกฎหมายไม่ได้ แต่ก็จะขอปวารณาตัวต่อประชาชนว่าจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่บอกถึงอันตรายผลกระทบต่างๆจากการใช้สารเคมี

Advertisement

“ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้มาให้ข้อมูล และทุกท่านที่ให้ข้อมูลนั้นคงทราบถึงเจตนารมณ์ของ สธ. รวมถึงท่านปลัดสธ.และเลขาอย.ด้วย เราได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยในการใช้ 3 สาร การออกเสียงลงคะแนนเรายังยืนยันว่า สธ. มีมติไม่เห็นชอบในกรณีที่ถ้าจะมีมติ เราก็จะไม่เห็นชอบ ซึ่งทางปลัดสธ.และเลขาอย.ได้ทำหนังสือยืนยันถึงเลขาที่ประชุม คณะกรรมการแล้วว่า สธ.มีความเห็นว่าอย่างไร ข้อมูลต่างๆที่ท่านได้ส่งให้กลับ สธ. เพื่อนำส่งต่อให้กับท่านนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นคุณค่าต่อประชาชนว่าท่านทั้งหลายรักและห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชน สุขภาพนั้นต้องมาก่อนกำไร มาก่อนรายได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์จากการที่รายได้ดีต้นทุนต่ำลงแต่ว่าคนในครอบครัวเจ็บใครได้ป่วยหรือต้องเสียชีวิตจากการใช้สารเคมีเหล่านี้ ผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากชีวิตและสุขภาพของประชาชนและหวังว่าท่านทั้งหลายจะสนับสนุนภารกิจและเจตนารมณ์ของ สธ. ต่อไป เสียงของท่านการยืนยันของท่านเป็นน้ำหนักมากที่สุดมากกว่าคำพูดของนักการเมืองคนหนึ่ง พี่น้องประชาชนจะต้องเลือกแล้วว่าจะเชื่อข้อมูลไหนและจะเลือกบริโภคอาหารอย่างไร เราก็ต้องต่างคนต่างทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ยอมแพ้ในเกม แต่ไม่ยอมแพ้ต่อสุขภาพ” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ยังไม่เป็นมติ ซึ่งหากมีการระบุว่าเป็นมตินั้น จะต้องมีความโต้แย้งว่า ไม่เป็นมติ ดังนั้นจะต้องมีการทบทวนให้กลับไปใช้มติของวันที่ 22 ตุลาคม คือจะต้องมีการบุติการใช้สารเคมีในวันที่ 1 มกราคม 2563

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบ ยังไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อไป จึงจะต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่มีเสียงเพียง 26 เสียงเท่านั้น ไม่ควรนำมาตัดสินกับชีวิตของคนไทย 66 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

“ทาง รศ.ภญ.จิราพร ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็ได้ลาออกแล้วเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่บอกว่าเป็นมติและมีการทำมติสมมติขึ้นมา ดังนั้นขณะนี้ทาง สธ.เหลือผู้แทนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพียง 2 คือ เลขาอย.และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ถึงจะพูดถึงจำนวนคนก็คงค้านไม่ได้ ถ้าหากเราไม่ได้พูดถึงเหตุผลและอันตรายเป็นสำคัญ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

รศ.ภญ.จิราพร กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมีความกังวลและห่วงใยสุขภาพประชาชนจากพิษภัยของ 3 สารเคมีทางการเกษตร เพราะฉะนั้น ทางสภาเภสัชกรรมจึงเปิดโอกาสให้สมาชิกของวิชาชีพแสดงความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ด้วยเว็บไซต์กลูเกิลฟอร์ม ตั้งแต่วันที่ 9-23 ธันวาคม ว่ามีความเห็นด้วยหรือไม่กับการแบนสารเคมีและการยกเลิกการใช้โดยเร็ว ซึ่งมีผลปรากฏว่า สามารถรวบรวมได้ 1.เภสัชกรจำนวน 2,068 รายชื่อ มีความเห็นด้วย 1,942 รายชื่อ คิดเป็นร้อยละ 93.9 และ 2. นิสิตนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์เท่านั้น จำนวน 461 รายชื่อ มีความเห็นด้วย 414 รายชื่อ คิดเป็นร้อยละ 89.6 ไม่เห็นด้วย 47 รายชื่อ ซึ่งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,356 รายชื่อ มีความเห็นด้วยร้อยละ 93.2 รายชื่อ

“ในส่วนของประชาชนนั้นจะมีอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถแสดงความคิดเห็น เราจึงต้องการเพียงผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เราจึงได้มารวมทั้งสิ้นในการเห็นด้วยต่อการรีบแบนเพราะคำนึงถึงปัญหาสุขภาพของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค เนื่องจากผลสำรวจพบว่า มีการปนอยู่ในอาหารในดินและสิ่งแวดล้อมและที่หนักไปกว่านั้นคือการพบการปนเปื้อนในน้ำนมแม่ จึงเป็นสิ่งที่เราห่วงใยหากเราไม่รีบยกเลิกการใช้มันก็จะเป็นปัญหามากขึ้นในการจัดการ ซึ่งปัญหาสำคัญคือ การที่มีผลต่อสมองของเด็กเนื่องจากพวกสารเคมีอยู่ในขี้เทาของเด็กและสายสะดือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น” รศ.ภญ.จิราพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image