17 ปีระบบหลักประกันสุขภาพไทย จุดประกายปฏิรูประบบสุขภาพโลก

คุณูปการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ตลอดระยะเวลา 17 ปี
นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา คือการทำหน้าที่เป็นกำแพงพิงหลังให้กับประชาชนบนผืนแผ่นดินไทย สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเสมอหน้า

ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา การให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีแก่ประชาชนกว่า 48 ล้านคน จึงไม่ต่างไปจากปาฏิหาริย์ ความสำเร็จของประเทศไทยจึงกลายมาเป็นต้นแบบที่นานาประเทศยกย่อง

 

นอกจากชื่อของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ปลุกปั้นระบบแล้ว เบื้องหลังการวางรากฐานจนประสบผลสำเร็จยังเต็มไปแรงสนับสนุนจากชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือ ศ.แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สุขภาพ และรองผู้อำนวยการ London School of Hygiene and Tropical Medicine วิทยาลัยภายใต้มหาวิทยาลัยลอนดอน

Advertisement

จากประสบการณ์อันคร่ำหวอดและมีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ระบบ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจจากการพูดคุยกับเธอ

ศ.แอนน์ มิลส์ บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยมีเสถียรภาพและเดินหน้าได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ เป็นเพราะความกล้าหาญของรัฐบาล ที่ตัดสินใจใช้เงินภาษีอุ้มสุขภาพของประชาชนเกือบทั้งประเทศ

“ความพิเศษของประเทศไทยก็คือ การทำให้เห็นว่าการใช้งบประมาณจากภาษีล้วนๆ เพื่ออุ้มระบบทั้งระบบเป็นสิ่งจำเป็น และนั่นทำให้ไทยแตกต่างไปจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย เพราะประเทศเหล่านี้ยังคิดว่าต้องสร้างระบบแบบประกันสังคมเป็นลำดับแรก แล้วค่อยขยายออกไปเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขาไม่กล้าพอที่จะใช้ระบบภาษีอุดหนุนทั้งระบบแบบไทย” ศาสตราจารย์รายนี้ระบุ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้งบเหมาจ่ายรายหัวจะสูงขึ้นจากในอดีตมากถึง 3 เท่า แต่ในภาพรวมก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เป็นเหตุเป็นผล และสะท้อนว่าประเทศไทยยังมีความสามารถจ่ายให้กับระบบสุขภาพได้อีก

การเติบโตและหยั่งรากฐานอย่างมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไทยทุกวันนี้ แน่นอนว่าเป็นผลมาจากการออกแบบตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ตั้งแต่ความพร้อมของโครงสร้างขั้นพื้นฐานในอดีต การมีสถานพยาบาลทุกระดับกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนการบริหารงบประมาณแบบเหมาจ่ายรายหัว และแนวคิดการแยกผู้ซื้อออกจากผู้ให้บริการ

ทว่าสิ่งที่เป็นหัวใจของความสำเร็จก็คือ การให้ความสำคัญอย่างแท้จริงจากฝ่ายการเมือง โดย ศ.แอนน์ มิลส์ จำกัดความว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือส่วนผสมของการเมืองและการออกแบบระบบทางเทคนิค

“เหตุผลที่ระบบสุขภาพในประเทศแอฟริกาใต้ยังเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลจะเห็นพ้องว่าต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ก็คือการเมืองแบ่งขั้นอย่างรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยนั้น ระบบหลักประกันฯ เกิดขึ้นมาก่อนที่ผู้เล่นทางการเมืองจะมีอำนาจล้นเกินไป” เธอกล่าว

ศ.แอนน์ มิลส์ มองว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ประเทศอังกฤษและประเทศที่มีรายได้สูงอื่นๆ เจอมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือลักษณะครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้หลายครอบครัวไม่มีบุตรหลานมาดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดบ้านเหมือนในอดีต

“ขณะนี้ประเทศไทยรู้ว่าตัวเองจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว น่าจะพอมีเวลาในการวางแผนระบบสำหรับอนาคต โดยระบบต้องมีความสมดุลระหว่างการให้บริการที่โรงพยาบาล กับการทำให้คนดูแลตนเองที่บ้านได้ อาจจัดระบบด้วยการทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือสนับสนุนให้สมาชิกในครัวเรือนช่วยดูแลกันและกัน เน้นการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งประเทศไทยก็ทำเรื่องนี้มาตลอด แต่ยังสามารถพัฒนาได้อีก” เธอชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในภายภาคหน้า

ย้อนกลับไปในปี 2558 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีตัวชี้วัดหนึ่ง คือการทำให้ทุกประเทศมีระบบสุขภาพที่เข้าถึงได้ และเป็นธรรมภายในปี 2573 โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพาไปถึงเป้าหมาย

ศ.แอนน์ มิลส์ วิพากษ์ว่า นั่นเป็นเป้าหมายที่ยากและใหญ่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย เช่น ในแอฟริกา หรือลาว คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ก้าวหน้าแบบประเทศไทยได้ในทันทีทันใด ในช่วงริเริ่มสร้างระบบ พวกเขาอาจต้องเน้นให้บริการระดับปฐมภูมิ เพราะยังไม่มีโครงสร้างด้านสาธารณสุขที่ดีนัก

ดังนั้น การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละประเทศ จึงอยู่ที่นิยามที่พวกเขาให้กับระบบ และความพร้อมด้านบริการสาธารณสุข เช่น จะให้สิทธิประโยชน์ตอนเริ่มได้มากน้อยแค่ไหน มีความคุ้มค่าหรือไม่ ใช่ว่าจะให้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างได้ จำเป็นต้องเลือกสิ่งที่ทำได้และเหมาะสม

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจฟังดูทะเยอทะยานเกินไป แต่หากเรามีเป้าหมาย เราก็จะมีหมุดหมายให้เดินไปข้างหน้า มันอาจจะดีที่เราทะเยอทะยานไว้ก่อน” เธอกล่าว

เพราะนั่นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ช่วยจุดประกายให้ทุกประเทศเชื่อว่า “อะไรก็เป็นไปได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image