แล้ง-แห้ง-ร้อน เราจะผ่านไปด้วยกัน

“เราต้องผ่านจุดที่อันตรายที่สุดของภัยแล้งไปให้ได้ ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าทำจริงจังเราผ่านไปได้แน่นอน”Ž
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าว

เขาบอกด้วยว่า คำว่า จุดที่อันตรายที่สุดของการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ว่าก็คือ ช่วงเวลานี้ วันนี้นั่นเอง

ภาดล ถาวรกฤชรัตน์

“เพราะถ้าตอนนี้เราไม่ทำอะไร พอถึงเดือนมีนาคม เมษายน ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพราะมันทำไม่ได้ ตอนนั้นมันจะแล้งจริงๆ ทั้งแล้ง ทั้งร้อน น้ำมันจะไม่มีแล้วเพราะฝนไม่ตก ตอนนี้เราจึงต้องทำงานให้หนักเอาไว้ก่อน เก็บน้ำที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ เอาไปไว้ใกล้กับที่ที่เราคาดการณ์เอาไว้ว่าเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงราวๆ มิถุนายน มันจะขาดแคลน ไม่มีน้ำใช้” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าว

ภายใต้การรับมือวิกฤตภัยแล้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ดูแล คอยป้องกันและหาทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่ปลูกไม้ผล ที่อยู่นอกเขตชลประทาน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นหน่วยงานคอยชี้เป้าว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาบ้าง ภายใต้การประกาศพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้ง ซึ่งครอบคลุม 30 จังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 370,000 ไร่ และการขาดแคลนน้ำประปานอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค

Advertisement

นายภาดล กล่าวว่า ปีหน้ามีน้ำใช้น้อยแน่นอน โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงต้นเดือนพฤษภาคม สิ่งสำคัญคือ ช่วงเวลาก่อนจะถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ยังพอหาน้ำได้ จึงต้องระดมทั้งสรรพกำลังคนและงบประมาณ หาน้ำเอาไว้ให้เกษตรกรไปเก็บกักสำหรับใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวก่อนจะเข้าสู่หน้าแล้งเต็มรูปแบบ


“น้ำผิวดินเป็นน้ำที่เอามาใช้ได้ทันที มีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก และประเทศไทยยังโชคดีที่ว่าแม้จะแล้งไม่มีน้ำใช้ก็จริง แต่จะเกิดเป็นพื้นที่ๆ เท่านั้น และเนื่องจากประชาชนที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานจะพบเจอกับสถานการณ์แล้ง น้ำน้อยเป็นประจำทุกปี จะมีการปรับตัวเองได้ในระดับหนึ่ง เช่น การขุดบ่อน้ำขนาดเล็กเพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ แต่หลายพื้นที่แหล่งน้ำที่สามารถเอามาใช้อยู่ไกลเกินศักยภาพที่เกษตรกรจะเอามาใช้ได้ ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำที่ต้องเข้าไปช่วย โดยกรมน้ำมีทั้งเครื่องสูบน้ำ ท่อนำส่ง และระบบกระจายน้ำ พร้อมจะเข้าไปติดตั้งเพื่อลำเลียงน้ำออกมาแจกจ่ายได้”Ž อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าว

นายภาดล กล่าวว่า สำคัญมากเลยคือ ต้องแจ้งให้ทางกรมทรัพยากรน้ำทราบ โดยแจ้งได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2666-7000 กด 1 หรือ 09-5949-7000 หรือแจ้งกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ของท่านก็ได้ โดยเวลานี้ อบต.กับทางกรมทรัพยากรน้ำได้ประสานข้อมูลและพร้อมจะช่วยเหลือตลอดเวลา
หากพื้นที่นั้นสุดกำลังเกินกว่าจะหาน้ำผิวดินมาให้ประชาชนจริงๆ ยังมีน้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาล ที่ปัจจุบันนี้มีบ่อบาดาลของทางราชการทั่วประเทศ จำนวน 107,125 บ่อ มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ได้วันละ 1,714,000 ลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เป็นบ่อบาดาลของภาคเอกชน จำนวน 63,411 บ่อ

ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกนี้แบ่งเป็นน้ำในมหาสมุทร 97% กับแหล่งน้ำจืด 3% ในส่วนของ 3% ที่เป็นน้ำจืดนั้น เป็นน้ำแข็งและหิมะ 70% น้ำผิวดิน 1% และเป็นน้ำใต้ดินถึง 29% สำหรับปริมาณน้ำในประเทศไทย แบ่งเป็นปริมาณน้ำฝนตกเฉลี่ย 1,467 มิลลิเมตรต่อปี คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 754,730 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถนำมาใช้ได้ 45,386 ลบ.ม. ปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ในปัจจุบัน 14,741 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำบาดาลที่ยังคงเหลืออยู่ 36,645 ล้าน ลบ.ม. โดยเวลานี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีความพร้อมทั้งในเรื่องเครื่องมือ บุคลากร ที่จะเข้าไปขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำสะอาดขึ้นมาให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภค รวมทั้งสำหรับใช้เพื่อการเกษตร สามารถบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ได้

“เรามีน้ำบาดาลที่นำมาใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบราว 4.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. และยังเหลือที่ยังไม่นำมาใช้อีกประมาณ 3.6 หมื่นล้าน ลบ.ม. จำนวนนี้เองสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้ โดยพื้นที่ที่อยู่ใกล้ริมน้ำจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งน้ำบาดาลมากที่สุด และเวลานี้เราสำรวจพบว่าพื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำบาดาลมากที่สุดคือ 36% รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21% ภาคเหนือ 14% ภาคใต้ 17% ภาคตะวันออก 4.7% ภาคตะวันตก 5.6% ที่น่ายินดีก็คือ ก่อนหน้านี้พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่เดิมทีมีปัญหาเป็นพื้นที่วิกฤตแผ่นดินทรุดเพราะมีการขุดบ่อบาดาลกันมากเกินไป จนต้องออกข้อห้ามขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติมอีก เพราะจะไปซ้ำเติมปัญหาแผ่นดินทรุดนั้น ภายหลังจากมีการเฝ้าระวัง ควบคุม สังเกตการณ์และทดสอบ จนถึงบัดนี้พบว่าปัญหาดินทรุดในกรุงเทพฯจากการขุดบ่อบาดาลนั้นไม่มีแล้ว แสดงว่าพื้นที่ในกรุงเทพฯสามารถขุดบ่อบาดาลได้โดยไม่มีผลกระทบŽ” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าว

ปี 2563 นั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแผนที่จะกอบกู้ บรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง 6 แผนคือ 1.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง โดยประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือสถานการณ์ภัยแล้งผ่านช่องทาง http://1310.ogr.go.th หรือโทรเข้าไปที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2666-7000 กด 1 หรือ 09-5949-7000 ตั้งแต่เวลา 08.30-22.00 น.ทุกวัน 2.ปัจจุบันมีบ่อบาดาลของทางราชการทั่วประเทศจำนวน 107,125 บ่อ มีปริมาณน้ำสำรองวันละ 1,714,000 ลูกบาศก์เมตร 3.ในภาคการผลิตมีบ่อบาดาลของภาคเอกชนจำนวน 63,411 บ่อ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกชน 4.ความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งนั้นมีจุดจ่ายน้ำสะอาด 136 แห่ง มีรถผลแหล่งน้ำสะอาดเคลื่อนที่ 18 คัน มีรถบรรทุกน้ำ 79 คัน และมีชุดเจาะน้ำบาดาล 79 ชุด 5.มี application Badan4Thai ที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ได้ทั่วประเทศ และ 6.แผนการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่คาดว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณและไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีในปี 2563 มี 4 โครงการคือ โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 793 แห่ง โครงการน้ำบาดาลระดับลึกเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพน้ำเค็ม โครงการน้ำบาดาลเพื่อเกษตรแปลงใหญ่ 237 แห่ง และ โครงการน้ำบาดาลเพื่อส่งเสริมน้ำอุปโภคบริโภคให้กับน้ำประปาหมู่บ้าน 711 แห่ง

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงราวๆ เดือนมิถุนายน อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่นานนักสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่สำหรับใครก็ตามที่ต้องเจอกับความทุกข์ทรมานจากภัยแล้ง ร้อน ขาดทั้งน้ำกิน น้ำใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำที่ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์การเกษตร 4 เดือนเศษๆ นั้นถือว่ายาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์

ช่องทางสำหรับแก้และบรรเทาความเดือดร้อนที่กล่าวมา คงจะทำให้ความทุกข์จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นเบาบางลง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image