กปน.ขอเจาะบาดาล 4 พื้นที่ บางเขน-มีนบุรี-ลาดกระบัง-สมุทรปราการ คาด53,760ลบ.ม./บ่อ

เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ค่อนข้างรุนแรงมาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส.จึงได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำน้ำใต้ดินที่มีอยู่ประมาณ 30,645 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี ขึ้นมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยราชการและประชาชนทั่วประเทศ ล่าสุด การประปานครหลวง (กปน.) ได้ทำหนังสือขออนุญาตเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำบาดาลไปผลิตน้ำประปาใน 4 พื้นที่ เป็นบ่อขนาด 10 นิ้ว 4 บ่อ ความลึกของบ่อตั้งแต่ 350 – 600 เมตร ในเขตบางเขน เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และ จ.สมุทรปราการ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้อนุญาตในเบื้องต้นแล้ว จำนวน 3 บ่อ คือที่ บางเขน มีนบุรี ลาดกระบัง ส่วน จ.สมุทรปราการ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งแต่ละบ่อจะสามารถนำน้ำบาดาลไปผลิตเป็นน้ำประปาได้เดือนละ 53,760 ลบ.ม. มีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวนมากกว่า 5 พันครัวเรือน ถือเป็นครั้งแรกที่มีการขอใช้น้ำใต้ดินไปผลิตเป็นน้ำประปา

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า การขออนุญาตเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะไม่มีผลกระทบต่อแผ่นดินทรุด เนื่องจากพื้นที่ที่มีการขออนุญาตเจาะบ่อบาดาล ที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำบาดาลลดลงมาก เพราะมีมาตรการควบคุมและมีเส้นท่อประปาผ่าน

“ปัจจุบัน ปริมาณการใช้น้ำบาดาลยังต่ำกว่าปริมาณการสูบที่ปลอดภัย ระดับน้ำบาดาลจึงมีการคืนตัวและมีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม และ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำบาดาลมีการคืนตัวสูงขึ้น ส่วนอัตราการทรุดตัวลดลง ปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 0 – 1 เซนติเมตรต่อปี เท่านั้น ดังนั้น คณะอนุกรรมการกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงเห็นควรอนุมัติให้เจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ดังกล่าวได้และไม่มีผลกระทบต่อแผ่นดินทรุด ทั้งนี้ การเจาะบ่อบาดาล จะมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมด้วยเพื่อติดตามระดับน้ำบาดาลอย่างใกล้ชิด” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าว

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำการเจาะบ่อบาดาลเพื่อให้การช่วยเหลือชุมชน และบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภค อีก 526 บ่อทั่วประเทศ โดยในพื้นที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1(ลำปาง) จำนวน 128 แห่ง ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงราย เชียง ใหม่ น่าน เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2(สุพรรณบุรี) 141 แห่ง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3(สระบุรี) 10 แห่ง สระบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4(ขอนแก่น) 32 แห่ง ขอนแก่น กาฬสินธ์ุ มหาสารคาม เลย เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5(นครราชสีมา) 32 แห่ง นครราชสีมา บุรีรัมย์ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6(ตรัง) 45 แห่ง ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7(กำแพงเพชร) 10 แห่ง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8(ราชบุรี) 67 แห่ง ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9(ระยอง) 43 แห่ง ระยอง จันทบุรี ชลบุรี เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10(อุดรธานี) 20 แห่ง อุดรธานี นครพนม สกลนคร เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11(อุบลราชธานี) 19 แห่ง อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด เป็นต้นและ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12(สงขลา) 15 แห่ง สงขลา นราธิวาส ปัตตานี เป็นต้น จะเริ่มดำเนินการกลางเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้ ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าน้ำบาดาลมีอันตราย เพราะน้ำบาดาลของประเทศไทยได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพดีมากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก น้ำแร่ชื่อดังหลายยี่ห้อหลายชนิดที่วางขายในประเทศไทยและทั่วโลก ล้วนมาจากน้ำบาดาลไทยทั้งสิ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image