สธ.เผยกรณีแบบ ‘คุกพิษณุโลก’ ไม่ใช่ครั้งแรก จี้กรมราชทัณฑ์เข้มคุณภาพอาหารในเรือนจำ

จากกรณีผู้ต้องขังในเรือนจำ จ.พิษณุโลก หลายคนป่วย และมีจำนวน 4 คน เสียชีวิต จากอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ และมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนทีเอสเอช (TSH) มีปริมาณต่ำไม่สามารถควบคุมฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ได้ ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันนั้น

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ที่สถาบันบำราศนราดูร ว่า จากกรณีดังกล่าวอาจจะเกิดจากสภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งนำไปสู่ความไม่สมดุลของเกลือแร่ เช่น โพแทสเซียมต่ำ ซึ่งในรายที่เสียชีวิตคือ มีอาการอ่อนแรงที่เกิดจากภาวะโพแทสเซียมต่ำ และส่งผลต่อสภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ขณะนี้มีจำนวน 20 กว่าราย ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล (รพ.) พุทธชินราช เพื่อความปลอดภัย ส่วนต้นเหตุนั้น กรมราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการแก้ไข

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะต้องแยกประเด็นคือ 1.เรื่องของการเกิดโรคภายในเรือนจำ ในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกเนื่องจากมีการรายงานมาแล้วก่อนหน้านี้หลายครั้ง ซึ่งนำมาสู่การที่กรมราชทัณฑ์ได้ทำการออกหนังสือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนในการควบคุม เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก 2.โรคไทรอยด์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่โรคติดต่อที่สามารถระบาดจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ 3.กองระบาดวิทยา ได้ทำการคัดกรองป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่มีความผิดปกติ เพื่อทำการรักษาช่วยลดอัตราการเสียชีวิต รวมไปถึงการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยข้อมูลเบื้องต้น กรมควบคุมโรคได้ส่งไปยังกรมราชทัณฑ์แล้ว พร้อมทั้งจะต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนว่า โรคไม่ติดต่อก็สามารถแพร่ระบาดได้ในลักษณะการเกิดเป็นกลุ่มก้อนของผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเหมือนกัน เช่น การอุปทานหมู่ในผู้ป่วยโรคจิตเวช ซึ่งหมายถึงการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อนแต่ไม่ใช่โรคติดต่อ

นพ.สุวรรณ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนจากอวัยวะของสัตว์ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้สั่งการไปยังกองระบาดวิทยา เพื่อประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจสอบอาหารที่นำจ่ายให้แก่ผู้ต้องขับในเรือนจำให้เป็นไปตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง

Advertisement

“จากกรณีนี้อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ต้องขังรับประทานอาหารที่มีการประกอบขึ้นจากอวัยวะภายในของสัตว์ เช่น เลือด เครื่องใน คอหมู ที่เป็นส่วนของไทรอยด์หมู เป็นการสะสมในระยะที่ยาวนาน ดังนั้น สารต่างๆ ที่อยู่ในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งผู้ต้องขังในเรือนจำไม่สามารถเลือกรับประทานได้ ซึ่งต่างจากคนที่อยู่ภายนอกที่สามารถเลือกรับประทานอาหารไม่ซ้ำได้ เหมือนเป็นการเปลี่ยนอาหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนที่อยู่ภายนอกเรือนจำไม่เกิดภาวะนี้ แต่ผู้ต้องขังจะต้องรับประทานอาหารซ้ำๆ อยู่เป็นระยะเวลานานจึงส่งผลนี้เกิดขึ้นต่อร่างกาย อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามากไปก็ไม่ดี เช่น น้ำตาล หากรับประทานในปริมาณน้อยก็จะมีความหวาน แต่รับประทานในปริมาณมากจะทำให้เกิดโรคได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image