กฎหมายสิทธิเด็กยังบกพร่อง แนะแก้ปัญหาครอบคลุม 4 ด้าน

เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 24 มิถุนายน กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย จัดการประชุมเสนอผลงานด้านกฎหมายเด็ก ณ ห้องราชเทวี 1 โรงแรมเอเชีย เพื่อทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กในฉบับต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยมี ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส เป็นประธาน ร่วมด้วย นายโทมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ

นายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2535 การออกแบบกฎหมายเกี่ยวกับเด็กที่ผ่านมายังไม่มีประสบการณ์ชัดเจน จะอิงกฎหมายต่างประเทศเป็นต้นแบบมาตลอด ทำให้ยังมีข้อบกพร่อง ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะที่เป็นปัญหาคือการขาดระบบการบริหารจัดการในการรองรับการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทำงานด้านเด็กเป็นเพียงงานฝากไม่ใช่งานประจำ และไม่มีอัตราประจำตำแหน่ง ส่งผลให้เป็นอุปสรรคร้ายแรงที่ทำให้เรื่องเด็กไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสรรพสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนจึงต้องครอบคลุมทั้ง 4 มาตรการ ทั้งกฎหมาย การบริหาร สังคม และการศึกษา ที่จะต้องมีการดำเนินงานที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะทางสังคม ต้องกระตุ้นให้มีจิตสำนึกเรื่องนี้ ตระหนักรู้ว่าจะต้องป้องกันปัจจัยเสี่ยงอย่างไร กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอาสาสมัครในชุมชนต่างๆ เชื่อมกลไกในการดูแลแก้ไขปัญหากับหน่วยงานต่างๆ ขณะที่ด้านการศึกษาต้องให้ความรู้ความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะในการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวและสังคม นอกจากนี้ควรมีการปรับแก้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กให้มีการระบุไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ นายสรรพสิทธิ์ ได้กล่าวถึงกรณีการออก ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กตีกันว่า เป็นเพียงการแก้ปัญหาเป็นกรณีและไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ทั้งที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กก็มีมาตรการที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว สิ่งที่รัฐควรทำคือการเข้าไปดูสภาพแวดล้อมของสังคมในโรงเรียนว่าอะไรคือสาเหตุ ส่วนราชการควรให้ประชาชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในเรื่องของตัวเองด้วย เพราะหากออกกฎหมายเฉพาะเรื่องโดยไม่มีกลไกและมาตรการอื่นๆ ร่วมกัน ในที่สุดผู้บริหารก็จะคิดว่ากฎหมายนั้นใช้การไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่จิตสำนึกของคนที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

Advertisement

ด้าน นายสุรสิทธิ์ แสงวิโรจน์พัฒน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวถึงช่องว่างของกฎหมายอาญาในประเด็นเกี่ยวกับเด็กว่า ปัจจุบันนี้แม้ว่าตัวบทกฎหมายจะเขียนตีกรอบไว้ แต่การพิจารณาคดีต่างๆ นั้นอยู่ที่การตีความของศาล ซึ่งโดยมากจะตีความแคบไว้ก่อน จึงมีปัญหาตามมาหลายกรณีเช่น การเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรของสามีภรรยาที่เลิกกัน ซึ่งมีปัญหามากเพราะไม่ได้บังคับขั้นตอนหรือบทลงโทษชัดเจนว่าหากไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูจะต้องเป็นเช่นไร เด็กที่ไม่ได้ค่าเลี้ยงดูจากพ่อแม่หลายคนก็ต้องไปฟ้องร้องอีกครั้ง ใช้เวลานานกว่าจะได้ค่าเลี้ยงดู และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญโดยเน้นสภาวะและความต้องการของเด็กด้วย

S__53903379
สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก

S__4309025

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image