สธ.ออกโรงแจง ‘น้ำประปาเค็ม’ ไม่กระทบคนปกติ แต่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่กระทรวงธารณสุข (สธ.) นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแถลงข่าว “สธ. พร้อมให้บริการประชาชนช่วงภัยแล้งและน้ำประปาเค็ม”

นายเรวัต กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนจากผลกระทบภัยแล้ง สธ.ได้เตรียมมาตรการรับมือตั้งแต่ก่อนเกิดภัยแล้ง โดยให้สถานพยาบาลสำรวจถังสำรองน้ำ แหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ จัดทำมาตรการประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอให้บริการประชาชน เบื้องต้นได้รับข้อมูลจาก 49 จังหวัด โรงพยาบาล 310 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 359 แห่ง อาจมีน้ำไม่เพียงพอ 8 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการสำรองน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมประสานขอสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่และเตรียมการจัดซื้อน้ำ สำหรับการรับมือเมื่อเข้าสู่ระยะภัยแล้ง ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในทุกระดับ (กระทรวง กรม เขตสุขภาพ จังหวัด) เชื่อมโยงกับศูนย์บรรเทาและป้องกันปัญหาภัยแล้งระดับชาติ จังหวัด และอำเภอ พร้อมขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคบริโภคในสถานบริการ

นายเรวัต กล่าวว่า โดยมอบกรมอนามัยเตรียมสนับสนุนเวชภัณฑ์สำหรับการปรับปรุงสภาพน้ำ การปฏิบัติตนในช่วงภัยแล้ง ประชาชนควรล้างทำความสะอาดภาชนะเก็บกักน้ำให้สะอาด และสำรองภาชนะเก็บกักน้ำไว้ให้เพียงพอ เลือกดื่มน้ำบรรจุขวดต้องมีเครื่องหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง หากน้ำไม่สะอาดควรปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนโดยการต้ม กรอง ส่วนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ควรดื่มน้ำครั้งละมากๆ และจิบน้ำเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) เมื่อร่างกายมีภาวะขาดน้ำ

Advertisement

สำหรับกรณีน้ำประปาเค็ม นายเรวัต กล่าวว่า ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะความเค็มจากน้ำประปาอาจเพิ่มโซเดียมเข้าสู่ร่างกายต่อวันในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะโดยปกติคนเรามีโอกาสรับโซเดียมจากอาหารที่มีรสเค็มอื่นๆ มากกว่า เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด น้ำปลา ซอสปรุงรส ผงปรุงรสในอาหาร สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อาจต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

ด้าน พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือ ในน้ำประปาควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ลิตร) และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มก./ลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ โดยคนทั่วไปควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มก.ต่อวัน ซึ่งน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100–150 มก./ลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่าการดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มกว่าปกติเล็กน้อย ดังนั้น ควรลดการบริโภคอาหารที่ปรุงรสเค็ม เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส หรือขนมกรุบกรอบ

Advertisement

“สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพและปลอดภัย นอกจากนี้ ช่วงภัยแล้ง ขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำ เพื่อป้องกันโรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษไวรัสตับอักเสบ เอ ไข้หวัดหน้าร้อน โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ผดร้อน เครียด และลมแดด (Heat stroke) ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” พญ.พรรณพิมล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image