“ฝุ่นจิ๋ว” ยังฟุ้งทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑล หมอแนะงดกิจกรรม-ออกกำลังกายกลางแจ้ง

เมื่อวันที่ 12 มกราคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข้อมูลจากจุดตรวจวัด 50 สถานี โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.)  พบว่า มีค่าพีเอ็ม 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากพีเอ็ม 2.5 ได้แก่ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (ACS) และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นต้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีโอกาสได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่อง กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) ลดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน และตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง ควรสวมหน้ากาก สวมแว่นตา เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่นด้วย

“นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยติดตามสถานการณ์ค่าพีเอ็ม 2.5 ได้ที่แอพพลิเคชัน Air4Thai ของ คพ.เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็ก หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image