“ปันกันสุข” ทำบุญวิถีพุทธ สู่สังคมแห่งการ “ให้”

การทำบุญในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องบริจาคทุนทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ และทำได้ง่ายๆ เริ่มต้นจากการ “ให้”

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ “ฉลาดทำบุญ วิถีสร้างสุข : ปันกันสุข” เมื่อปลายปี 2562 เพื่อสื่อสารกับสังคม ขยายแนวคิดเรื่องการสร้างสังคมแห่งการให้เชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องบุญในพระพุทธศาสนา ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ เช่น งานจิตอาสา การแบ่งปัน เปลี่ยนการให้ทานด้วยทรัพย์สิน เป็นทำบุญด้วยการพัฒนาจิต สร้างเสริมพลังจิตอาสา เพื่อผู้ป่วยโรคระบบประสาทในสถาบันฯ

นพ.สุชาติ หาญไชยพิบูลย์กุล รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สถาบันประสาทเป็นองค์กรภาคีร่วมโครงการกับมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และ สสส. โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการปลุกพลังแห่งความดี ผ่านกิจกรรมจิตอาสาเพื่อเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ของการทำบุญรูปแบบใหม่ในสังคมไทยอันจะนำไปสู่สังคมแห่งการให้และการแบ่งปันอย่างกว้างขวางในอนาคต

Advertisement

นายนภนาท อนุพงศ์พัฒน์ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จนถึงปัจจุบัน และมีอาสาสมัครทั้งระยะสั้นและยาวกว่า 1,000 ราย การทำโครงการเพื่อส่งเสริมแนวคิดสังคมแห่งการให้ โดยประยุกต์นำหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เป็นไปได้อย่างสมสมัย ผ่านกิจกรรมจิตอาสาและการให้รูปแบบใหม่ที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน ผ่านแนวคิดปันกันอิ่ม นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนที่ร่วมสื่อสารแนวคิดและปฏิบัติการต่างๆ ของงานอาสาสมัครอันหลากหลาย เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่ของสถาบันแห่งนี้ เป็นพื้นที่ของการแบ่งปันความสุขผ่านการให้ ให้ทั้งเวลา แรงกายความสามารถ สติปัญญาที่จะปรากฏเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการในหลากหลายสาขาอาชีพ จึงมีการช่วยเหลือด้านจิตอาสาที่แตกต่างกันไป พร้อมยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่เห็นความสำคัญของโครงการ และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปัน ถือเป็นการทำบุญในรูปแบบใหม่ที่ได้ความสุขจากการเป็น “ผู้ให้”

Advertisement

ขณะที่ นางกมลรัตน์ ศรีสมบัติ นักรังสีการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา ผู้ริเริ่มโครงการธนาคารขยะ กล่าวว่า เริ่มแรกนั้นเริ่มโครงการได้จาก นพ.วุฒิพงศ์ ฐิรโฆไท ประธานคณะทำงานจิตอาสา สถาบันประสาทวิทยา ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำธนาคารขยะรีไซเคิลภายในสถาบัน โดยหลักจะเป็นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ความท้าทายของการทำคือ ทำอย่างไรให้สำเร็จ เนื่องจากงบประมาณน้อย แรงงานน้อย ดังนั้นจึงอาศัยความเสียสละและทุ่มเทอย่างมาก ลักษณะของธนาคารขยะจะมีความเหมือนกับธนาคารรับฝากเงิน คือ เจ้าที่ของสถาบัน สามารถนำขยะในแผนกที่ฝากการคัดแยกแล้วนำมาฝากที่ธนาคาร และทางธนาคารจะมีราคาตามตลาดและตาชั่งติดกำกับไว้ โดยธนาคารขยะจะต้องสำรองเงินซื้อขยะจากผู้นำมาฝากก่อน หากธนาคารมีการรับฝากจนเต็มก็จะติดต่อกับบริษัทรับซื้อขยะให้มารับไป โดยธนาคารก็จะได้เงินจากส่วนนี้ ซึ่งอาจจะมีกำไรหรือขาดทุนในหลายครั้ง

“เราต้องการให้ขยะถูกคัดแยกก่อนนำมาฝากกับเราเราไม่ต้องการให้มีขยะอยู่ตามวอร์ด หรือบริเวณโรงพยาบาลซึ่งจะมีการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ และให้อาศัยหลักการ 5 ส.ให้กำจัดขยะและนำมาฝากไว้กับเรา โดยธนาคารจะต้องใช้ความเสียสละจากทีมงานอย่างมากในการดำเนินงานให้สำเร็จ วันนี้ใครๆ ก็รู้แล้วว่าสถาบันประสาทมีธนาคารขยะ” นางกมลรัตน์กล่าว

นางปราณี เชียงอารีย์ ผู้ประกอบการร้านอาหารภายในศูนย์อาหาร สถาบันประสาทวิทยา ผู้เข้าร่วมโครงการ “ปันกันอิ่ม” กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการทำโครงการปันกันอิ่ม เป็นการแจกคูปอง “ปันกันอิ่ม” วันละ 20 ใบ เพื่อซื้ออาหารในศูนย์อาหาร โดยจะแจกเฉพาะผู้ที่ยากไร้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือ รวมถึงให้กำลังใจ นอกจากนี้ ในศูนย์อาหารยังมีการตั้งกล่องรับบริจาคโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่พบเห็น จึงทำให้มีเงินทุนดำเนินโครงการได้ต่อไปและขยายผลไปยังร้านอาหารอีกหลายร้าน

“เราทำทุกอย่างเพื่อให้สถาบันประสาทมีความเจริญรุ่งเรือง และได้รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ ไม่แพง ทำมากว่า 18 ปี แต่เดิมเรามาเปลี่ยนระบบของเขาพวก ก็ไม่ชอบ แต่ในวันนี้มีแต่รอยยิ้ม เพราะทุกคนได้รับความสุขจากการให้ ทีแรกเรากังวลว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ด้วยใจที่อยากทำ เมื่อใจสั่งสมองให้เราสู้ ซักวันหนึ่งมันจะต้องสำเร็จ รู้สึกปลาบปลื้มใจทุกครั้งที่เห็นแววตาของคนที่ได้รับไป เขาถามว่าทำไมต้องให้เขา เราก็บอกว่า ไม่ใช่เราให้แต่เป็นมูลนิธิพุทธิกา และ สสส.” นางปราณีกล่าว

น.ส.จิตรลดา จักรเพชรโยธิน นักโภชนาการ สถาบันประสาทวิทยา ผู้ดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยเพื่อผู้ป่วย กล่าวว่า จากนโยบายของ สธ. ที่มีความต้องการให้คนไข้ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยไร้สารเคมี จึงนำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากสินค้าปลอดสารเคมีราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป ส่งผลให้ดำเนินการได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มงานจะพยายามหาวิธีการอื่นมาใช้ เพื่อให้การจัดทำอาหารปลอดภัยเพื่อผู้ป่วยดำเนินไปได้เต็ม 100% ในเบื้องต้นจึงแก้ไขด้วยการนำผักผลไม้ปลอดสารเคมีมาใช้ในการทำอาหารปั่น และอาหารปั่นผสมที่ใช้ผักไม่กี่ชนิด ขณะนี้อาหารปั่นของสถาบัน เป็นอาหารปลอดสารพิษ 100%

“เราคือผู้บริโภคคนหนึ่งที่รับประทานอาหาร หากวันหนึ่งเราไปที่โรงพยาบาล และมีการทำอาหารปลอดสารพิษ เราก็จะโอเค ดังนั้นตอนนี้เรามีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ให้บริการเราก็จะเริ่มก่อน ให้เขารับประทานอาหารปลอดภัย ในวันหนึ่งพอเรากลับไปเป็นผู้บริโภค เราก็คาดหวังว่าเขาจะมอบอาหารที่ปลอดภัยให้เรา” น.ส.จิตรลดากล่าว

น.7

นอกจากนี้ การดำเนินโครงการร่วมกันภายในหน่วยงานของสถาบัน ในอนาคตมีการวางแผนโครงการใหม่ในการจัดการขยะที่เกิดจากเศษอาหารให้เป็นขยะอินทรีย์ โดยจะเป็นการคัดแยกเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง เมื่อคนไข้รับประทานอาการเสร็จแล้ว จะต้องมีการคัดแยกกระดาษเช็ดปาก เศษพลาสติก หรือเศษขยะอื่นๆ ออกจากขยะอินทรีย์ที่เป็นเศษอาหาร เมื่อได้ขยะอินทรีย์เหล่านั้นมาแล้ว ก็จะนำมาผ่านกระบวนการทำเป็นปุ๋ยและนำไปใช้ในการปลูกพืชผักปลอดสารเคมี เพื่อนำไปประกอบอาหารของผู้ป่วยในโครงการต่อไป

นับว่าเป็นโครงการจิตอาสาที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่ได้รับบุญ และยังเป็นผู้ให้ที่มีความสุขอย่างมหาศาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image