“อธิบดีคพ.”ยันข้อมูลฝุ่นเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์บิดเบือนไม่ได้

“อธิบดีคพ.”ยันข้อมูลฝุ่นเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์บิดเบือนไม่ได้ ขอปชช.เน้นดูค่า PM2.5เป็นหลักถ้าดูค่าดัชนีมวลรวมแล้วจะตระหนก ส่วนหมอกความชื้นเป็นข้อมูลจากกรมอุตุฯไม่ได้นั่งนึกเอง

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์กรณีถูกกระแสโซเชียลโจมตีในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมีการล่ารายชื่อให้ปลดจากตำแหน่งว่า กระแสสังคมสอบถามตนมาว่าทำไมอธิบดีกรมควบคุมมลพิษพยายามพูดถึงค่ามลพิษที่มันน้อย เป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับข้อมูลที่ที่อื่นนำเสนอ ซึ่งเรื่องนี้ตนจะพูดในเรื่องที่ไม่ถูกต้องทำไม ตนจะพูดค่าที่มันดูน้อยๆ ดีๆ ทำไม ข้อมูลของ คพ.เราบอกค่ามลพิษทั้งหมด ซึ่งมีการมองว่าตนอาจจะพูดเพราะต้องการเอาใจเจ้านาย เอาใจผู้บังคับบัญชาหรือไม่ ตนขอชี้แจงว่าว่าไม่ได้เอาใจใคร สิ่งที่ตนกำลังทำคือการพูดถึงค่ามลพิษที่ถูกต้องตรวจวัดมาจากเครื่องวัดของ คพ.และกทม. ที่มาจากภาษีของประชาชน เป็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และตรงตามหลักวิชาการที่เจ้าหน้าที่ คพ.ได้รวบรวมมา เรื่องนี้เป็นเรื่องศักดิ์ศรีขององค์กร เพราะหากตนทำไม่ถูกต้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษก็จะเสียหาย และทุกวันนี้ตนก็ทำงานตามหน้าที่อย่างเต็มที่

“ยืนยันว่าตัวเลขที่ผมชี้แจงเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และเป็นตัวเลขทางสถิติ จะให้ผมบิดเบือนนั้นตรงนี้ผมทำไม่ได้ วันนี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งงทำหน้าที่ และไม่ให้มีอะไรกระทบกับประชาชนการเสนอมาตรการอะไรจึงต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบในภาพรวม ”นายประลองกล่าว

นายประลอง กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 ในวันนี้ คือบางหน่วยบางสำนักเขาก็ไปแจ้งเป็นค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งรวบรวมค่าดัชนีคุณภาพอากาศของสารมลพิษ 6 ชนิด จึงเป็นตัวเลขที่สูง แม้ทุกสารจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหมดแต่วันนี้เราเน้นในเรื่อง PM2.5 เพราะมองว่าเป็นอันตรายมาก และกรมอนามัยระบุว่าสามารถลงไปได้ถึงในปอด แต่ในหลายๆ สำนักจะระบุค่า PM 2.5 ไว้เล็กๆ ทำให้ประชาชนเมื่อเห็นค่าดัชนีคุณภาพอากาศโดยรวมแล้วตื่นตระหนก ดังนั้นวันนี้ท่านจะดูแอพลิเคชันใดก็ตาม แต่อยากให้ดู PM2.5 เป็นหลัก ซึ่งในข้อมูลแอพลิเคชั่น Air4thai ของคพ. เราบอกไว้หมดทั้งค่า AQI และค่า PM2.5 รวมทั้งบอกแนวทางปฏิบัติป้องกันตัวไว้ด้วย

Advertisement

นายประลอง กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ตนระบุว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นมาจากหมอกความชื้นนั้น ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาตนพยายามหาข้อมูลมาตลอด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา 2-3 วันที่ผ่านมามีหมอกหนา ตนไม่ได้ตัดสินด้วยความคิดของตัวเองแต่ได้สอบถามกรมอุตุนิยมวิทยาในคณะทำงานแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่าหมอกหนาๆ นั้นเกิดจากอะไร กรมอุตุฯ ก็ตอบมาว่าเป็นหมอกของความชื้น ซึ่งเกิดจากทิศทางลมตะวันออกที่พัดเอาความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาสู่แผ่นดิน ซึ่งในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาในพื้นที่ กทม.ลมสงบ คือไม่มีลมพัดเลย และความกดอากาศกดทับต่ำมาก ปกติในช่วงกลางวันความกดอากาศที่เหมือนฝาชีจะยกสูงขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 2.5-3 กม. ซึ่งทำให้กลางวันการหมุนเวียนอากาศเกิดขึ้นได้ดี แต่ในช่วงเช้าและเย็นความกดอากาศกดต่ำจนแทบจะชิดพื้นดิน คาดว่าต่ำกว่า 100 ม. จึงทำให้ควันรถหรือฝุ่น PM2.5 ระบายไม่ได้ ถามว่าทำไมกรมอุตุฯ บอกว่าเป็นหมอกความชื้น ก็เพราะตอนกลางวันลมตะวันออกพัดความชื้นมาจากทะเลจีนใต้แต่พอมาถึงเมืองไทยลมเริ่มอ่อนและพัดเอาความชื้นมาสะสมบนผืนแผ่นดินไทย ส่วนตอนกลางคืนลมสงบเราจะรู้สึกว่าลมนิ่งมาก พอลมไม่พัด ความกดอากาศที่เหมือนฝาชีก็ต่ำ ความชื้นจึงเต็มไปหมดรวมทั้งควันด้วย ความชื้นที่เยอะมากนั้นพอเช้าแดดส่องจึงเกิดการสะท้อนแสงและกลายเป็นหมอกความชื้น

“เราดูหลายๆ อย่างว่ามันไม่ใช่หมอกควันอย่างเดียว เหตุผลที่ผมกล้ายืนยันก็เพราะว่า พอเที่ยงหรือบ่ายแก่ๆ มันเริ่มจางและหายไป ถ้าเป็นหมอกควันถึงโดนแดดหรืออะไรมันก็ไม่หายไป แต่ความชื้นมันระเหยไป นอกจากนั้นดูจากค่ามลพิษที่วัดออกมาได้ในแต่ละวัน ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเครื่องวัดค่ามลพิษของ คพ.และกทม.ที่มีอยู่ 54 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลก็วัดค่าออกมาได้ใกล้เคียงกัน ความหนาของหมอกที่เกิดขึ้นถ้าหากเป็น PM2.5 ค่าต้องขึ้นสูงถึง 100 กว่า มคก./ลบ.ม.แล้ว และที่สำคัญเราพูดมาตลอดเวลาว่า PM2.5 มันเล็กมาก ประมาณ 25 เท่าของเส้นผม และมองด้วยสายตาไม่เห็น แต่ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มี PM2.5 มันมีอยู่แล้ว เพราะมีรถวิ่งทุกวัน แต่ทำไมเราไม่คิดว่ามันมีทั้ง PM2.5 PM10 หรือฝุ่นขนาดใหญ่รวมอยู่ด้วย เพราะการก่อสร้างต่างๆ ก็เยอะ และสะสมไปหมด สิ่งที่ยืนยันได้ทุกวันนี้คือความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 % ซึ่งถือว่าเป็นความชื้นที่สูง ซึ่งเมื่อชี้แจงข้อมูลไปแบบนี้คนก็มองว่า ผมไม่เห็นความเดือดร้อน ความวิกฤต แต่ยืนยันว่าเราก็ต้องพูดความจริง ” นายประลองกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองPM2.5 นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังระบุอีกว่าค่ามาตรฐานดังกล่าวได้กำหนดไว้เป็น 3 ระดับ ระดับเป้าหมายที่ 1 คือ ไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ระดับเป้าหมายที่ 2 จะเข้มข้นมากขึ้นเป็น 50 มคก./ลบ.ม. และระดับเป้าหมายที่ 3 อยู่ที่ 35 มคก./ ลบ.ม. จากนั้นจะเข้าสู่คำแนะนำเข้มข้นที่สุดที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. โดยค่าเกณฑ์ขึ้นกับแต่ละประเทศจะเลือกใช้เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง ขณะที่ประเทศไทยได้ใช้ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งต้องคำนึงถึงขีดความสามารถด้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยีควบคู่กันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image