“สาธิต” ตรวจ “คลินิกมลพิษเคลื่อนที่” มั่นใจช่วยประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์-เข้าถึงการรักษา

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) นพรัตนราชธานี ตรวจเยี่ยมคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ ซึ่งอำนวยความสะดวกประชาชน เข้าถึงข้อมูลความรู้การป้องกันตนเอง ตรวจสมรรถภาพปอดกลุ่มเสี่ยง และเตรียมเปิดคลินิกมลพิษออนไลน์ อำนวยความสะดวกประชาชนปรึกษาแพทย์

นายสาธิต กล่าวว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงประชาชนจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 มอบ สธ.ดูแลสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตนเอง รวมทั้งขยายคลินิกมลพิษในจังหวัดที่มีความเสี่ยง อาทิ รพ.สมุทรสาคร รพ.สมุทรปราการ รพ.ปทุมธานี รพ.สวรรค์ประชารักษ์ รพ.นครพิงค์เชียงใหม่ รพ.ลำปาง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และสนับสนุน กทม. จัดตั้งคลินิกมลพิษในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ในสังกัด กทม. รวมทั้งเปิดคลินิกมลพิษออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถปรึกษากับแพทย์ได้สะดวกขึ้น

 

Advertisement

นายสาธิต กล่าวว่า สธ. ได้ร่วมกับ กทม. จัดหน่วยบริการสุขภาพประชาชนและคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ ให้บริการเชิงรุกเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้การป้องกันตนเองจากผลกระทบสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม2.5 ซึ่งในวันนี้ได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกให้บริการเชิงรุก เน้นการให้ความรู้ ตรวจสมรรถภาพปอดกลุ่มเสี่ยง และส่งต่อผู้ป่วยรับการรักษาต่อในโรงพยาบาล กรณีที่มีอาการผิดปกติ รวมทั้งเป็นการเก็บข้อมูลโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคตา โรคผิวหนัง เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพีเอ็ม2.5 จำนวนกี่ราย นายสาธิต กล่าวว่า ในเชิงข้อมูลมีตัวเลขอยู่ แต่จะต้องเรียนให้ทราบว่าขณะนี้ยังไม่มีโรคที่พิสูจน์ว่าเป็นโรคที่เกิดจากพีเอ็ม2.5 แบบ 100% เพียงแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับฝุ่นพีเอ็ม2.5 มากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องปอด ระบบทางเดินหายใจและปัญหาเรื้อรัง จะต้องระวังในกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่ตั้งครรภ์ เด็กและผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“การตั้งคลินิกมลพิษภายในโรงพยาบาล ในความรับรู้ของประชาชนก็ยังไม่ทราบจนกว่าจะได้เข้าไปที่โรงพยาบาล แต่วันนี้เรื่องฝุ่นพีเอ็ม2.5 เป็นเรื่องที่สังคมกังวลมาก เราเลยคิดว่าจะต้องยกคลินิกมลพิษเคลื่อนที่มาให้เขาได้รู้จักรวมไปถึงเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูล วันนี้จึงนำคลินิกเคลื่อนที่มาเป็นการเปิดตัวให้ประชาชนรับรู้ว่ามีคลินิกมลพิษภายในโรงพยาบาล ซึ่งมีให้บริการในโรงพยาบาลของ สธ. และศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.เกือบทุกแห่งมีคลินิกมลพิษให้บริการ ซึ่งไม่ได้เปิดเคลื่อนที่ตลอด แต่เป็นการเปิดตัวคลินิกมลพิษให้ประชาชนรับรู้ รับทราบ และเข้าทำการรับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทั่วไปตามเวลาทำการราชการ” นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามว่าประชาชนมีความคิดเห็นว่าทางรัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง นายสาธิต กล่าวว่า ก็ต้องยอมรับว่า ความรู้สึกของประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ภาครัฐบาลจะต้องรับฟัง เมื่อรับฟังแล้วก็จะต้องดำเนินงาน ซึ่งในความรับรู้อาจจะไม่รับทราบว่าเราดำเนินการอยู่ ทุกหน่วยงานก็ดำเนินงานกัน และในส่วนของ สธ. ก็ดำเนินการอย่างเต็มที่ เช่น ในมาตรการที่ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ให้ไว้ว่าอาจจะต้องมีการให้ทำงานที่บ้าน เป็นต้น

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ให้ความสำคัญกับโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนให้สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี จัดตั้งคลินิกมลพิษขึ้นเป็นแห่งแรก ให้บริการทั้งด้านการรักษาและการป้องกัน เน้นการให้ความรู้ให้ประชาชนเข้าใจกลไกการเกิดโรค การป้องกันตนเอง การใช้ชีวิตในช่วงภาวะวิกฤติโดยไม่ให้โรครุนแรงขึ้น ลดอัตราการนอนในโรงพยาบาลด้วยโรคที่เกิดจากมลพิษ และมีกลไกการติดตามในระยะยาว ทำให้สามารถติดตามผลเรื้อรังที่เกิดจากมลพิษในประชาชน ขณะนี้ มีคลินิกมลพิษในโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ ได้แก่ รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.วัดไร่ขิง รพ.สงฆ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันประสาทวิทยา

นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า รพ.นพรัตน์ฯ เป็นแม่แบบของคลินิกมลพิษ ดังนั้นประชาชนจึงมั่นใจได้ว่าคลินิกมลพิษทุกแห่งของ กทม. มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลใหญ่ โดยศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ก็จะได้รับมาตรฐานการคัดกรองการดูแลเช่นเดียวกันทุกแห่ง และประชาชนสามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้

เมื่อถามว่ากรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลทางโลกออนไลน์ว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพีเอ็ม2.5 จนมีเลือดออกทางจมูกหรือปากนั้น สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการเกี่ยวข้องกันโดยตรงหรือไม่ ซึ่งโดยทฤษฎีไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ อาจจะเพราะว่าผู้ป่วยรายนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีเลือดออกทางโพรงจมูกอยู่แล้ว หรือมีปัญหาเกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะบริเวณจมูกเรื้อรังซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงการแคะ แกะ เกา บริเวณโพรงจมูกในขณะที่มีการระคายเคืองจากฝุ่น ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาหาสาเหตุ เพราะอาจจะเป็นหาที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกายได้ เช่น โรคมะเร็ง โดยในการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในคลินิกมลพิษของ รพ.นพรัตน์ฯ จำนวนกว่า 20 ราย ไม่มีอาการของเลือดออกจากจมูกดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image