อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งตั้ง ‘วอร์รูม’ ติดตามพวกลักลอบเผาป่า แก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งตั้ง ‘วอร์รูม’ ติดตามพวกลักลอบเผาป่า แก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในระหว่างเดือนมกราคม – เดือนเมษายน ของทุกปี ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือมักประสบปัญหาหมอกควัน ที่มาจากสถานการณ์ไฟป่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความเสียหาย ต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศป่าไม้ เศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม และการท่องเที่ยว โดยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมาตนได้ลงพื้นที่ อ. แม่ทะ จ. ลำปาง เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์ไฟป่า และหมอกควัน จังหวัดลำปาง พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และได้มอบแนวทางการดำเนินงานป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยให้จัดตั้ง “War Room” เพื่อประสานงานกับทางจังหวัด และให้ซักซ้อม จำลองสถานการณ์เกิดไฟป่า เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว “รับแจ้งเหตุรวดเร็ว สั่งการรวดเร็ว และเข้าดับไฟรวดเร็ว”

จึงต้องมีการซักซ้อมความเข้าใจกับการปฏิบัติงานให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้ชุด Small Unit ออกลาดตระเวน เฝ้าระวัง และจับกุมผู้จุดไฟมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและพฤติกรรมไฟของปีที่ผ่านมา สำหรับใช้วางแผนการปฏิบัติงานและจัดทำพื้นที่เป้าหมาย

นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ใช้กลยุทธ 7 ระดับ ได้แก่

Advertisement

1. การใช้กลไกภาคประชารัฐสนับสนุนการทำงานในระดับจังหวัด

2. การประเมินสถานการณ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น โดรน และดาวเทียม

3. การวางแผนลดจุดความร้อน (Hot Spot) ในช่วง 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2563

Advertisement

4. การจัดทำแผนเผชิญเหตุ จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ดับไฟเข้าระงับเหตุ

5. การระดมกำลังพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือจากนอกพื้นที่มาเสริม เพื่อไม่ให้เหตุไฟป่าลุกลาม

6. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

และ 7. การบังคับใช้กฎหมายกับคนที่จุดไฟเผาป่า

นายอรรถพล เจริญชันษา

นายอรรถพล ระบุว่า นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังมีแผนดับไฟป่า 3 ระดับ คือ ระดับปกติ ระดับรุนแรง และขั้นวิกฤต โดยร่วมกับทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมสนับสนุนทั้งกำลังพล
และอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ

ซึ่งแผน 1 คือ แผนการดับไฟป่าตามสถานการณ์ปกติ ซึ่งเป็นไฟป่าเพิ่งเกิด และถูกตรวจพบทันที หรือไฟลุกลามเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ กรมป่าไม้จะร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ปภ. อปท. และทหาร พร้อมเครือข่ายชุมชน ร่วมกันปฏิบัติงานดับไฟป่า

ส่วนแผน 2 แผนการดับไฟป่าในสถานการณ์รุนแรง คือ ไฟไหม้ลุกลามเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ หรือดับไฟด้วยแผนที่ 1 แต่ไม่สามารถควบคุมได้ในเวลา 3 วัน จะมีการตั้งศูนย์อำนวยการดับไฟป่า โดยนายอำเภอในพื้นที่คอยบัญชาการ พร้อมพละกำลังเพิ่มเติมจากกระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมสนับสนุนเครื่องจักรกล อากาศยาน รถดับเพลิง เฮลิคอปเตอร์ เข้าเร่งดับไฟทันที

และแผน 3 แผนการดับไฟในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งเป็นแผนดับไฟระดับที่ 2 และไม่สามารถควบคุมไฟได้
ในเวลา 15 วัน จะมีการตั้งศูนย์อำนวยการดับไฟป่า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ และกำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือจากทุกหน่วยงาน และมีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากโรงพยาบาล ในการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า รวมทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชน ที่จะคอยสนับสนุนการดับไฟในสถานการณ์ขั้นวิกฤตนี้โดยเร็วที่สุด

“กรมป่าไม้ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อลดผลกระทบจากไฟป่าและปัญหาหมอกควัน ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรป่าไม้ให้มากที่สุด ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเหตุไฟป่าได้ที่สายด่วน 1362” นายอรรถพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image