สธ.เพิ่มห้องแล็บอีก 2 แห่ง รองรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา คาดต้องอยู่กันไปอีก 9 เดือน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นพ.สุขุม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ สธ.จึงต้องเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การใช้หน้ากากอนามัย ที่มีทั้งแบบผ้าและแบบกระดาษทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ควรต้องพักผ่อนอยู่บ้าน และจะต้องหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเอง ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เมื่อใช้บริการรถสารธารณะ รวมไปถึงการเข้าไปในที่แออัดจะต้องมีหน้าการอนามัยป้องกันการรับและแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้รับการรับรองในการตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มอีก 2 แห่ง จากเดิมที่มีเพียง 2 แห่ง คือ แล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ แล็บโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์

“แล็บที่เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี และ รพ.จุฬาลงกรณ์ ฉะนั้นขณะนี้ สธ.มีแล็บที่ได้มาตรฐานในประเทศไทยรวม 4 แห่ง นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาแล็บ เพื่อขยายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อีก 14 แห่งทั่วประเทศ ในการรับตรวจวินิจฉัยโรคในท้องถิ่นได้ และสามารถแปลผลได้ภายใน 3 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อลดระยะเวลาการส่งสิ่งส่งตรวจมายังส่วนกลาง พร้อมทั้งเตรียมชุดตัวอย่างการส่งสิ่งส่งตรวจให้มีเพียงพอในการส่งมาตรวจยังห้องแล็บต่างๆ” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ปัจจุบันจะมีคำว่า “แยกโรค” และ “กักกัน” ซึ่งคำว่ากักกันจะใช้กับคนที่ไม่มีอาการป่วย ซึ่ง สธ.ยังไม่ได้ดำเนินการ สิ่งที่ทำในขณะนี้คือ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน จำนวน 202 ราย ใช้การแยกโรค ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยทั้ง 202 ราย อยู่ในสถานพยาบาล จึงไม่มีความจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากได้อยู่ในขั้นตอนของการดูแลรักษาอย่างละเอียดอยู่แล้ว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.ได้ขยายนิยามของคำว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนที่จากเดิมจำกัดเพียงผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ได้ขยายรวมถึงผู้ป่วยที่มีอาชีพใกล้ชิดกับคนจีน มาเป็นเกณฑ์ในการเฝ้าระวังด้วย เพื่อให้การตรวจพบการแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้น ดังนั้น ยอดผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนว่าจะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาจึงมีการเพิ่มขึ้นค่อยข้างเร็วในระยะนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีการกล่าวว่าความรุนแรงของโรคลดลง ประเมินจากปัจจัยใด และอยู่ในระดับใด นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่มีขณะนี้ยังให้คำตอบได้ยาก เนื่องจากมีข้อมูลหลากหลายกระแสมาก แต่มีปัจจัยที่เป็นหลักฐานชัดเจนคือจำนวนผู้ป่วยของประเทศจีนเป็นหลัก จะเห็นได้ว่ามีผู้ป่วยกว่า 4,000 ราย และเสียชีวิตเกือบ 200 ราย หากมองเฉพาะตัวเลขเหล่านี้จะพบว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ในจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 4,000 กว่ารายนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเสียชีวิตภายในวันนี้ และปัญหาของตัวเลขชุดนี้คือ เป็นการนับเพียงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ทางการจีนไม่ได้ติดตามผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย อาจกล่าวได้ว่าเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง เนื่องจากตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงส่งผลให้มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจ การคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมีจำนวนเท่าไรได้นั้น จะต้องใช้วิธีการคาดเดาทางวิทยาศาสตร์ที่คาดว่าจะมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งบางกระแสกล่าวว่าขณะนี้มีผู้ป่วยในประเทศจีนรวม 1 แสนราย

“สมมติว่ามีผู้ป่วย 1 แสนราย มีคนเสียชีวิต 200 ราย อัตราการเสียชีวิตคือ 2 ต่อ 1,000 ราย ก็ค่อนข้างสูงพอสมควร แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น แต่ที่รู้คงไม่สูงถึง 2-4%” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าจะต้องเฝ้าสังเกตสถานการณ์อีกนานเท่าไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ที่นับตั้งแต่วันที่มีการแพร่ระบาดในประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีระยะการแพร่ระบาดอยู่ที่ 6-9 เดือน จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด หลังจากนั้นจะคงที่ รอวันที่จะหมดลงและแพร่ระบาดเป็นช่วงๆ สำหรับการแพร่ระบาดในประเทศจีนขณะนี้พบว่าเป็นช่วงขาขึ้น และยังเป็นเพียงเดือนแรก

“หนังเรื่องนี้เป็นหนังชีวิตแน่นอน อีกนานกว่าสถานการณ์ในประเทศจีนจะดีขึ้น ที่เขาใช้วิธีการปิดเมือง ห้ามคนออกมานอกเคหะสถานยังทำแค่ไม่กี่เมืองเท่านั้นเอง ในขณะที่การระบาดไปมากกว่า 1 เมืองแล้ว และก็จะค่อยๆ แพร่ระบาดไป หากทางประเทศจีนมีมาตรการที่ดี ไม่ได้แปลว่ามันจะหยุดเร็วลง แต่มันจะยืดเวลาออกไป คือการทำงานได้ดี ระยะเวลามันจะช้าลง พูดง่ายๆคือเราสามารถชะลอการระบาดได้ ในประเทศใดๆก็ตามที่มีการแพร่กระจายของโรค หากไม่สามารถนำกลับไปสู่จุดที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศได้ และการแพร่ระบาดยังค่อยๆ เดินต่อไป มันจะใช้เวลา 6-9 เดือน เราก็เตรียมการไปในทิศทางนั้น เพราะนับวันสถาบันด้านการสาธารณสุขจะยิ่งออกมาพยากรณ์สอดคล้องกันมากเรื่อยๆ ว่าทุกประเทศมีความเสี่ยงระดับปานกลางที่มีผู้ป่วยแพร่กระจายในประเทศ แม้กระทั่งสหภาพยุโรปรายงานฉบับล่าสุดของยูโรซีดีซี ก็ออกมายืนยันชัดเจนว่าแม้แต่ในยุโรปก็อาจจะมีการแพร่ระบาดของโรคได้” นพ.ธนรักษ กล่าว

เมื่อถามว่าการชะลอจุดวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคจะส่งผลดีอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผลดีคือการชะลอจำนวนผู้ป่วยที่ไปรอที่โรงพยาบาล กล่าวคือ จากที่จะมีผู้ป่วยวันละ 1,000 ราย ก็จะมีผู้ป่วยเพียง 100 รายต่อวัน โรงพยาบาลจะทำงานได้ง่าย คุณภาพของการดูแลรักษาจะดีมากขึ้น

“ประเทศของเราไม่ใช่ประเทศร่ำรวย มีข้อจำกัดหลายอย่าง รพ.หลายแห่งของเราก็แน่นมากแล้ว ดังนั้นการชะลอผู้ป่วยที่จะไปรพ.เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ถ้าเกิดมีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งทุกประเทศคิดเหมือนกัน ทำเหมือกัน เพราะว่าเราเคยเผชิญเรื่องนี้มานักต่อนักแล้ว ดังนั้นตรงนี้เป็นจุดที่มีความสำคัญสูงมาก ไม่ใช่การชะลอไปจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องทำให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดสภาพคนเต็มโรงพยาบาล อุปกรณ์ไม่เพียงพอ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image