หมอฟันธง! หน้ากากอนามัยต้องหันที่มีสีออก แนะถ้าไม่มีเจลล้างมือด้วยสบู่ก็ช่วยได้

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในหลายประเทศ สร้างความกังวลให้กับประชาชน แม้ในประเทศไทยจะยังไม่พบการระบาดของโรค ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ประชาชนนึกถึง คือ หน้ากากอนามัย ซึ่งประชาชนสามารถใช้หน้ากากที่ทำจากผ้า เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ปัจจุบันหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Face Mask) แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการป่วย เช่น ไอ จาม น้ำมูก

“สธ.จึงขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าเป็นทางเลือกนำมาใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน และสามารถซักทำความสะอาดนำมาใช้ซ้ำได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เหมาะกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงต้องดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ หากจำเป็นต้องไปในที่มีผู้คนหนาแน่นหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับหรือแพร่กระจายเชื้อโรค สำหรับวิธีการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์รับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=5BYIlQg13MM&feature=emb_logo” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกวิธีคือ สวมโดยให้นำด้านที่เป็นสีออกข้างนอก เนื่องจากด้านที่มีสีจะมีการเคลือบผิวของหน้ากากเพื่อป้องกันการเกาะติดของละอองเชื้อโรค และลักษณะของรอยพับจะพับลงเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมเชื้อโรค และส่วนที่เป็นสีขาว ให้นำไว้ด้านในเนื่องจากเนื้อผ้าจะช่วยซับเหงื่อและละอองสารคัดหลั่งที่ออกมาจากผู้สวมใส่ได้ พร้อมทั้งรอยพับของหน้ากากมีลักษณะช้อนขึ้น เพื่อเป็นการกักละอองสารคัดหลั่งให้อยู่ในร่องของรอยพับหน้ากากอนามัย

Advertisement

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในเวลาที่กันเชื้อโรค จะต้องเข้าใจว่าเชื้อโรคจะออกมากับผู้ป่วย เป็นลักษณะของละออง ซึ่งหมายความว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หน้ากากที่มีลักษณะของรูการถักทอเล็กมากๆ เนื่องจากละอองเหล่านั้นใหญ่พอสมควร เราจึงให้ผู้ป่วยใส่ เพื่อป้องกันการไอจาม เชื้อโรคเหล่านั้นจะตกค้างอยู่ในหน้ากากอนามัย ซึ่งหากเป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จะต้องทิ้งเสมือนว่าเป็นขยะติดเชื้อประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ระบุว่าติดเชื้อเฉพาะโรคนี้ และหากเป็นหน้ากากอนามัยประเภทซักใช้ซ้ำได้ ผู้ที่จะทำการซักจะต้องรู้วิธีการฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง เช่น ใส่น้ำยาเดทตอลให้เชื้อโรคตายก่อนหลังจากนั้นก็ซักด้วยวิธีเหมาะสม

“ที่เรากลัวกันทุกวันนี้ ผู้ป่วยวัณโรคยังตายมากกว่าอีก แต่เรามากลัวโรคที่จริงๆ อย่างน้อยๆ เราแค่เดินสวนกันไปพบเป็นผู้ป่วยวัณโรคในขณะนี้หากจำไม่ผิดสถิติอยู่ที่ 100 กว่าต่อ 1 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นจากเดิมที่พบถึง 170 ต่อ 1 แสนคน เรากำลังรักษาวัณโรคซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอยู่ นั้นหมายความว่า ไอ จาม ก็เป็นขยะติดเชื้อไป และต้องจัดการแยกทิ้งไม่ใช่โยนทิ้งในที่สาธารณะ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเจลอลกอฮอล์ล้างมือชนิดไม่ต้องล้างออกที่ขาดตลาดในขณะนี้ สามารถใช้อย่างอื่นทดแทนได้หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าว การปฏิบัติคือการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่อย่างถูกวิธี ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เจลล้างมือชนิดไม่ต้องล้างออก เพราะความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ในบางคนที่ขยันล้างมือ ก็จะลดเรื่องของการขาดแคลนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image