ระดมสมองสู้ฝุ่นจิ๋ว ‘พีเอ็ม2.5’ อนุภาคเล็ก-วิกฤตใหญ่

หมายเหตุ – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 22 หัวข้อ “ฝุ่น PM 2.5 : แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน?” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ร่วมแสดงความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะ ที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์


 

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์
ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ

Advertisement

วั นนี้ต้องแยกพิจารณาว่า เรากำลังคุยกันในบริบทเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือบริบทในชนบท เพราะเมื่อพูดถึงภาคขนส่งซึ่งทำให้เกิด PM 2.5 แล้ว ในเมืองอย่าง กทม.มีผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากโจทย์ในเมืองกับชนบทมีที่มาต่างกัน รวมทั้งต้นเหตุอื่นๆ เช่น อุณหภูมิ, ความกดอากาศ, ความชื้น,แรงลมและทิศทางลม ทั้งนี้ ฝุ่นจากภาคขนส่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอมาตลอด และเกิดขึ้นในเมืองอยู่แล้ว แต่ช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของแต่ละปีมักจะมีปัจจัยเรื่องความกดอากาศ แรงลม รวมทั้งสาเหตุอื่น เช่น ไฟป่าถูกพัดเข้ามา ทำให้ฝุ่นในเมืองสามารถพบเห็นได้บ่อย

ถ้าจะลดฝุ่นในเมืองโดยภาคการขนส่งสามารถแยกได้ 2 โจทย์คือ 1.รถยนต์ใหม่ และ 2.รถยนต์เก่า โดยรถใหม่นั้น ปี 2564 ภาครัฐมีมาตรฐานไอเสียอยู่แล้วคือยูโร 5 และยูโร 6 อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันคือมาตรฐานเชื้อเพลิง และเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศมาตรฐานยูโร 4 มาใช้กับรถจักรยานยนต์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำกันอยู่

การยกระดับมาตรฐานจากยูโร 4 มาเป็น 5 หรือ 6 นั้น มีต้นทุน โดยตัวเลขปี 2558 จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) บอกว่าถ้าเปลี่ยนยูโร 4 เป็น 5 ผู้ผลิตจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นคันละประมาณ 25,000 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนจากยูโร 4 ไปยูโร 6 จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 55,000 บาท หากเป็นรถบรรทุกประมาณ 95,000 บาท เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการยกระดับมาตรฐานรถต่างๆ มีต้นทุนที่เกี่ยวข้อง หมายความว่าอากาศสะอาดที่เราต้องการไม่ใช่ของฟรี ทั้งนี้ ปัจจุบันเราไม่มีการพูดคุยเรื่องเทรดออฟระหว่างต้นทุนทางเศรษฐกิจ กับต้นทุนทางสังคม และสิ่งแวดล้อมเลย

Advertisement

ยุทธศาสตร์ชาติกล่าวถึง “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่งคั่ง แต่สิ่งที่ยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรคือความยั่งยืน ดังนั้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ทั้ง 3 ส่วนต้องเดินไปด้วยกัน ต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่ไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพที่ต้องเสียไป ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันคิดและตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และเราต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย

สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือรถเก่า ซึ่งตัวเลขจากกรมการขนส่งทางบกชี้ว่าประเทศไทยมีรถที่อายุเกิน 20 ปี ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ โดยรถเก่าที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลเป็นต้นเหตุหลักในการปล่อยมลพิษ PM 2.5 เข้าสู่อากาศ ความท้าทายที่เกิดขึ้นของภาคการขนส่งคือรถยนต์ใหม่จะมีมาตรฐานที่ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้เกษียณรถเก่าเหล่านี้ออกจากระบบได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้ไทยไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องอายุรถ ต่างจากต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย, แคนาดา, มาเลเซีย ที่มีกฎหมายกำหนดอายุรถโดยสารโดยมีข้อพิจารณาหลักคือเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ข้อเสนอในการลดฝุ่นและมลพิษอื่นจากภาคการขนส่งคือ 1.ยกระดับมาตรฐานรถใหม่และน้ำมันเชื้อเพลิงควบคู่ไปด้วยกัน 2.มาตรการที่เป็นไปได้ในการบริหารรถเก่า เช่น เข้มงวดการตรวจสภาพประจำปี,จำกัดอายุการใช้งานรถในเขตเมืองไม่ให้อายุเกิน 10 ปี 3.ส่งเสริมให้ใช้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยยกระดับขนส่งมวลชนและปรับปรุงการบริการ อาทิ ทดแทนรถเก่าด้วยรถคุณภาพสูง, ส่งเสริมโครงข่ายรถเมล์ให้สามารถทำหน้าที่เป็นระบบป้อนให้ระบบรถไฟฟ้าที่กำลังทยอยเพิ่มมากขึ้น, เร่งแก้ปัญหาการเดินทางขาแรกและขาสุดท้าย

ทั้งหมดนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐต้องกำหนดค่าเป้าหมายให้ชัดเจน และแผนการดำเนินงานให้บรรลุป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด และขอย้ำว่าอากาศสะอาดไม่ใช่ของฟรี


ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์

ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัย
และสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ

ในขณะที่ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องอากาศบริสุทธิ์ จะทำอย่างไรในการปกป้องตัวเอง เพราะฝุ่น PM 2.5 อันตราย ด้วยขนาดที่เล็กจึงมีอำนาจทะลุทะลวงสูง ส่งต่อผ่านปอดโดยไม่สามารถดักจับด้วยขนจมูกหรือน้ำมูกได้ เข้าสู่กระแสโลหิตและแทรกซึมสู่เซลล์

ฝุ่น PM 2.5 มีองค์ประกอบทางเคมีจากการเผาไหม้ของน้ำมัน และยังมีสารประกอบโลหะหนัก ล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง

ส่วนผลกระทบแบบเฉียบพลัน จะเห็นได้ในวันที่มีฝุ่นหนาแน่น ทั้งอาการจามและน้ำมูกไหลในกลุ่มคนที่อ่อนไหว (เซนซิทีฟ) บางคนไม่รู้สึกอะไรคิดว่าร่างกายทนได้จึงไม่ป้องกันตนเอง ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวกว่า คือ “ผลกระทบเรื้อรัง” สะสมรอการแสดงผลในระยะยาว จนเมื่อแสดงผลก็สายไปเสียแล้ว

ขณะนี้ทางป้องกันมี 2 ระดับคือ 1.ลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิด หลักๆ คือการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ อันจะทำให้เกิดอนุภาค PM 2.5 เช่น การเผาทางอุตสาหกรรม การเผาพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งต้องทำในระดับนโยบาย

ส่วน 2.ในระดับบุคคลก็สามารถช่วยได้ กรณีการลดพลาสติก ถ้าทุกคนเห็นพ้องก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากทุกคนมองเห็นภาพเดียวกันและร่วมมือว่าจะทำเพื่อสังคม ซึ่งยังรวมถึงการควบคุม ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไข เพราะมักสนใจแต่กระบวนการ แต่ผลลัพธ์เป็นอย่างไร จะต้องปรับแก้หรือไม่ ยังค่อนข้างเห็นการดำเนินการส่วนนี้น้อย

หลักการควบคุมความเสี่ยง การคุมที่ต้นเหตุคือทางที่ได้ผลที่สุด หากสุดท้ายไม่มีวิธีใดได้ผล ก็ต้องเป็นการควบคุมระดับบุคคล คือสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นการควบคุมปลายเหตุ ส่วนในระดับบุคคล สิ่งที่ดีสุดคือ 1.ลดกิจกรรมหรือการทำให้เกิดฝุ่น เช่น รณรงค์ไม่เผาช่วงเทศกาลตรุษจีน 2.ติดตามสภาพอากาศ เพื่อประเมินความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารเมื่ออากาศไม่ดี 3.หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย N95 โดยสวมอย่างถูกวิธี หากหายใจสบายดีคือใส่ผิด ถ้าใส่ถูกวิธีจะต้องอึดอัด 4.ในอาคารระบบปิดสถานการณ์จะฝุ่นน้อยกว่า ให้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

และ 5.ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่มีความสามารถในการกรองฝุ่น โดยจะต้องเลือกดูให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

สาเหตุที่มาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่สำเร็จในแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจากปัจจัยการชะลอการแก้ปัญหา อาทิ ตัวชี้วัดความสำเร็จกับการมีส่วนร่วมองชุมชน กล่าวคือในแผนปฏิบัติการระบุว่า ตัวชี้วัดตัวหนึ่งคือจุดความร้อนที่ลดลง แต่ที่ จ.เชียงรายพบว่า แทบไม่พบจุดความร้อนเลย กลับยังมีค่า PM 2.5 อยู่ ดังนั้นตัวชี้วัดนี้อาจไม่สะท้อนอะไรนัก จึงอยากเรียกร้องให้มองถึงเรื่อง “อากาศสะอาด” ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่มาทำงานด้วยกันควรมองวัตถุประสงค์ให้ตรงกัน นั่นคืออากาศสะอาด พร้อมมองมิติของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

สำหรับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรยึดหลักที่ว่าด้วยเราต้องการอากาศสะอาดเพื่อทุกคน ด้วยการมีส่วนร่วม ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 4 ประเด็นคือ 1.แหล่งกำเนิด อาทิ การเกษตรยั่งยืน, การจัดการเชื้อเพลิง 2.การตรวจวัด ข้อติดขัดของหน่วยงานรัฐคือข้อมูลการตรวจวัดไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยเครือข่ายเฝ้าระวังโดยประชาชน 3.ผู้ได้รับผลกระทบ การเข้าถึงข้อมูลอย่างถูกต้องและเข้าใจหลักการ อยากให้มีความตระหนักมากขึ้น, การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง และ 4.นโยบาย การบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีอยู่จำนวนมากนั้น เราเข้าใจตรงกันหรือไม่ เข้มแข็งมากน้อยเพียงใด อีกทั้งในประเด็นคือเรื่องโครงสร้าง ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภค

ขออย่าให้การแก้ปัญหา PM 2.5 เป็นแบบไฟไหม้ฟาง ต้องแก้ไขจากด้านล่างขึ้นมาคือประชาชน คิดว่าเรื่องนี้แก้ไขได้เพราะได้เรียนรู้วิกฤตต่างๆ จาก 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว และประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ

ดังนั้น หากรัฐบาลตัดสินใจฟังเสียงประชาชนโดยขยับค่ามาตรฐานให้เข้มข้นขึ้น เราจะไม่เห็นค่าสีส้ม แต่จะเห็นสีแดงเลย และจำเป็นต้องฝ่าวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน


รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

อ ากาศสะอาดคือคีย์เวิร์ด เมื่ออากาศที่หายใจเข้าไปปนเปื้อน ไม่สะอาด ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร จึงนำไปสู่เรื่องการทวงสิทธิในการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ แม้สิทธินี้หน้าตาแปลก แต่ยึดโยงไปถึงสิทธิของชีวิต

มีการประเมินว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงจะตายเร็วขึ้นจากการรับมลพิษ และ PM 2.5 ซึ่งอันตรายมาก มีอนุภาคสูงในการทะลุทะลวง เพราะมีขนาดเล็ก เมื่อมองไม่เห็นเราจึงละเลย โดยไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าเราอยู่กับมันมายาวนานมากเท่าไหร่ ทำให้เราประมาทในการใช้ชีวิตเพราะเราคิดว่าเราโอเค ซึ่งความจริงไม่ใช่ เรามีชีวิตอย่างไม่ปกติสุข มีปัญหาสุขภาพ

ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่อาจทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ แต่ต้องมาตาย “โดยไม่ยินยอม” มีบางผู้เสียประโยชน์ บางผู้ได้ประโยชน์ เหล่านี้เรียกว่าความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ถามกรณีเช่นนี้ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าจะใช้กฎหมาย 1 ฉบับในการแก้ปัญหา ต้องใช้ทั้งในแง่กระบวนการ และเนื้อหา และจะต้องเป็นสูตร “แก้ทั้งระบบ” (reform plus) มีแค่ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับเดียวไม่พอ แต่จะต้องมีโครงสร้างอื่นๆ ด้วย

เราคุ้นเคยการแก้ไขปัญหาที่อยู่เหนือน้ำ เฉพาะที่มองเห็น แก้วนไป วนให้ตายก็แก้ไขไม่ได้ เนื่องจากใช้ความคิดแบบที่เคยสร้างปัญหามาก่อน แต่ไม่ได้คว้านลึกลงไปในการเปลี่ยนโครงสร้าง กลายเป็นว่ายิ่งแก้ยิ่งพันทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะไม่สามารถหลุดจากความคิดวังวนเดิม จากบนลงล่าง (bottom-up) เป็นลักษณะก๊อปแบรนด์เนมเกรดเอ

สุดท้าย ภาพสะท้อนของระบบในปัจจุบัน จึงเป็นภาพสะท้อนของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนทางด้าน “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” นักลงทุนชาวต่างชาติมาลงทุนไม่ได้กลัวกฎหมายเข้มแข็ง แต่กลัวกฎหมายที่ไม่แน่นอน ทำให้รับไม่ได้

นอกจากนี้ เรายังไม่มีการบันทึกค่าเสียหายสิ่งแวดล้อม และยังไม่มีกรีน GDP กฎหมายไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายจริง เพราะไม่มีใครทำอะไรกับสิ่งแวดล้อม เราเน้นการสร้างเงินทั้งในระดับชาติและย่อยลงมา แต่อยู่ภายใต้การรักษาพยาบาลอย่างกระหน่ำในโรงพยาบาล สุดท้ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ประชาชนแบกรับไม่สามารถแตะประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ เพราะการควบคุม หย่อนยาน และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ในฐานะประชากรมีสิทธิคู่กับหน้าที่ สิทธิในการมีชีวิตไม่ใช่การที่ต้องตายก่อนวัยอันควร สิทธิสุขภาพและสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่มีอยู่จริง เมื่อประชาชนมีสิทธิ รัฐก็ต้องมีหน้าที่ควบคู่อำนาจและความรับผิดชอบ หากสถาปนาให้เกิดขึ้นได้ ปกป้องการละเมิดโดยบุคคลที่สาม ไปยังการเติมเต็มให้สิทธิบังเกิดผลสมบูรณ์นั้น รัฐต้องทำ

และสิ่งที่รัฐควรจะทำ คือทำให้มีกฎหมายสะอาด ด้วยสูตร “รีฟอร์ม พลัส” คือ แก้ทั้งระบบจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ ต้องช่วยกัน

 


เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image