ดับไฟ(ป่า) ดับทุกข์

ดับไฟ(ป่า)

ดับทุกข์

 

ท่ามกลางสถานการณ์ไฟป่าที่มักเกิดขึ้นในทุกปี ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน เนื่องจากเป็นห้วงเวลาแห่งความแห้งแล้ง

Advertisement

และ คน ก็คือต้นเหตุหลักของการเกิดไฟป่า เพียงเพื่อหาประโยชน์จากพื้นที่ป่าเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวภาครัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการเตรียมความพร้อมในการดับไฟป่าอย่างทันท่วงที

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยถึงนโยบายป้องกันไฟป่าว่า พล.อ.ประวิตรกำชับให้ทุกหน่วยงานเข้าร่วม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command หรือบริหารเบ็ดเสร็จในระดับจังหวัด หน่วยที่มีกำลังดับไฟป่าจะขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด การจัดตั้งวอร์รูม ในการเฝ้าระวัง การลาดตระเวน การแจ้งเตือนเหตุไฟป่า การจัดกำลังเข้าดับไฟป่าอย่างรวดเร็ว

Advertisement

ในส่วนของหน่วยงานสังกัด ทส. ผมได้สั่งการไปยังกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกำลังเป็นหนึ่งเดียวในการทำงานด้านไฟป่า ฉะนั้นกำลังพลชุดเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ และชุดเสือไฟ กรมอุทยานฯ จะทำงานควบคู่กันและไม่มีเส้นขอบเขตของพื้นที่ป่า ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้การทำงานเป็นเอกภาพและมีพลังมากขึ้น ส่วนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยในแต่ละประเทศจะช่วยกันลดจุดความร้อน เพราะหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านก็มาที่เรา ส่วนหมอกควันจากไทยก็ไปประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับกระแสลม ฉะนั้นประเทศอาเซียนจะช่วยกันลดจุดความร้อนเท่าที่จะทำได้Ž นายวราวุธกล่าว

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าในทุกๆ ปี ขึ้นอยู่กับความแห้งของเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ถ้าเชื้อเพลิงแห้งเพลิงจะลุกลามมาก ส่วนสาเหตุของการเกิดไฟป่า คือ คนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า เมื่อจุดไฟในพื้นที่มีความแห้งแล้ง เชื้อเพลิงที่แห้งจะเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง

”ในปีนี้เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง เพราะฉะนั้นความแห้งแล้งจะทำให้เชื้อเพลิงแห้งเร็ว เห็นได้ว่าทางภาคเหนือเราจะเห็นภูเขาเป็นสีน้ำตาล สีแดงเป็นสีใบไม้แห้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้เร็วขึ้นและขณะนี้ มีหลายจังหวัดที่เกิดไฟป่า เช่น จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562- 26 มกราคม 2563 พบจุดความร้อนรวมทั่วประเทศ 8,973 จุด เป็นจุดความร้อนในเขตป่า รวม 2,101 จุด หรือร้อยละ 23 และจุดความร้อนนอกเขตป่า รวม 6,872 จุด คิดเป็นร้อยละ 77 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนสถิติการปฏิบัติการดับไฟในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์รวมทั่วประเทศ ในปี 2561 เข้าดับไฟ 4,288 ครั้ง รวมพื้นที่ 73,322.30 ไร่ และในปี 2562 เข้าดับไฟ 8,873 ครั้ง รวมพื้นที่ 215,582.50 ไร่ ขณะที่ปีงบประมาณ 2563 ถึงปัจจุบัน เข้าดับไฟ 261 ครั้ง รวมพื้นที่ 4,447.22 ไร่Ž”นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับแผนการดับไฟ กรมป่าไม้ เตรียมรับมือกับไฟป่าแล้วใน 3 ระดับ คือ ระดับปกติ-รุนแรง-วิกฤต โดยทุกแผนจะมีการตั้งวอร์รูม มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น Single Command ร่วมกับทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมสนับสนุนทั้งกำลังพลและอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ แผนดับไฟป่าตามสถานการณ์ปกติ เป็นไฟป่าเพิ่งเกิดและถูกตรวจพบทันที หรือไฟลุกลามเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ กรมป่าไม้จะร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ปภ. อปท. และทหาร พร้อมเครือข่ายชุมชน ร่วมกันปฏิบติงานดับไฟป่า

แผนดับไฟสถานการณ์รุนแรง คือ ไฟไหม้ลุกลามเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ หรือดับไฟด้วยแผนปกติ แต่ไม่สามารถควบคุมได้ในเวลา 3 วัน จะมีการตั้งศูนย์อำนวยการดับไฟป่า โดยนายอำเภอในพื้นที่คอยบัญชาการ พร้อมพลกำลังเพิ่มเติมจากกระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สนับสนุนเครื่องจักรกล อากาศยาน รถดับเพลิง เฮลิคอปเตอร์ เข้าเร่งดับไฟทันที ส่วนแผนดับไฟในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งเป็นแผนดับไฟรุนแรง และไม่สามารถควบคุมไฟได้ในเวลา 15 วัน จะมีการตั้งศูนย์อำนวยการดับไฟป่า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ และกำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือจากทุกหน่วยงาน และมีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากโรงพยาบาล ในการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า รวมทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชน ที่จะคอยสนับสนุนการดับไฟในสถานการณ์ขั้นวิกฤตนี้โดยเร็วที่สุด

นายอรรถพล กล่าวว่า สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรเกิดไฟป่า เพราะหากมีไฟป่าแล้ว จะมีปัญหาต่างๆ ในการควบคุมเพลิง โดยพี่น้องประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ต้องเข้าใจว่า การเกิดไฟป่าจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพื้นที่

เราประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งและพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมที่ไม่สามารถดูดซับน้ำ แม่น้ำลำคลองแห้ง จึงเป็นวัฏจักรส่งผลกระทบต่อไปยังประชาชนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ จึงกระทบเป็นลูกโซ่ ฉะนั้นทุกคนในประเทศไทย ต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเรื่องนี้ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นหูเป็นตา ไม่ทำให้เกิดไฟป่าŽ อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

นายอรรถพล กล่าวว่า หากชาวบ้านมีความจำเป็นต้องเผาพื้นที่เกษตร ต้องแจ้งกับหน่วยงานป่าไม้ หรือทางอำเภอ หรือตำบล เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูให้ ในแต่ละจังหวัดจะมีการควบคุมการเผาในห้วงภัยแล้งที่แตกต่างกันไป บางจังหวัดอยู่ระหว่าง 45-60 วัน ช่วงห้ามเผา จะมีการจัดระเบียบการเผา เพราะทำให้เกิดปัญหาหมอกควันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่

สำหรับบทลงโทษมือเผาป่านั้น อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่า อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นต้น มีโทษลดหลั่นกันไปตั้งแต่โทษปรับสูงสุดถึง 2 ล้านบาท และจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ขึ้นอยู่กับความเสียหายของทรัพยากรป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายเผาในที่โล่งแจ้ง กฎหมายการขัดต่อบัญญัติของท้องถิ่นหรือจังหวัด ซึ่งบทลงโทษต้องนำมาประกอบกันทั้งหมด

ดังนั้นจะเห็นว่าโทษหนักมาก รวมถึงต้องชดใช้ค่าเสียหายทางคดีเพ่งด้วย ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะมองข้ามในเรื่องนี้ ต้องเคารพกฎหมาย

หากพบเห็นไฟป่าให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ หรือสายด่วนโทร 1362

สิ่งสำคัญในการเข้าไปดับไฟอย่างทันท่วงที คือ รีบแจ้งให้รวดเร็ว

เมื่อดับไฟป่าได้ ย่อมเท่ากับดับทุกข์(ส่วนหนึ่ง) ให้ประชาชน และประเทศชาติได้นั่นเอง

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image