สธ.ยันไม่อนุญาต “เรือเวสเตอร์ดัม” เทียบท่า ลั่นคำนึงถึงปชช.สูงสุด

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์แพร่ระบาดโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยืนสะสม 33 ราย แม้ว่าจำนวนที่แพทย์อนุญาตกลับบ้านมีเพียง 10 ราย แต่มีข่าวดีว่าจะมีผู้ที่หายดีเพิ่มอีก 1 ราย ที่ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เป็นลบ เหลือเพียงขั้นตอนของการพิจารณาว่าจะให้ออกจากห้องแยกโรคหรือจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ และผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อขณะนี้มีแนวโน้มคงที่หรือชะลอตัว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรค และผู้ป่วยที่ยืนยันติดเชื้อในภาพรวมอาการดีขึ้น โดยมีหลายรายพร้อมที่จะให้กลับบ้านแต่ด้วยขั้นตอนของการเฝ้าระวังขั้นสูงสุดจะต้องมีผลแล็บว่าไม่พบเชื้อ จึงจะให้กลับบ้านได้

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ข่าวดีคือผู้ป่วยชาวจีนที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี ขณะนี้ออกจากห้องแยกโรคแล้วและผลตรวจจากห้องแล็บเป็นลบ ซึ่งขณะรอดูอาการอื่นเพิ่มเติม คาดว่าจะเป็นรายที่ 11 ที่ให้กลับบ้าน และจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในรพ.ราชวิถีและสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ รวมทั้งหมด 7 ราย มีอาการดีขึ้นและไม่มีอาการรุนแรง ในบางรายมีผลการตรวจจากห้องแล็บเป็นลบเช่นกัน โดยการคาดการณ์จะมีผู้ที่หายและกลับบ้านในรายที่ 11 และ 12 ต่อไป ในขณะนี้กรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สถาบันบำราศนราดูร รพ.เอกชน รพ.ในกรุงเทพมหานคร(กทม.)รวมถึง รพ.ในต่างจังหวัด ได้เตรียมห้องแยกโรคเพื่อรองรับสถานการณ์หากมีการระบาดเพิ่มขึ้น ยืนยันว่าการเตรียมความพร้อมยังเข้มข้นและเต็มที่

ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การจัดตั้งคลินิกไข้หวัด มีการดำเนินการในเขตสุขภาพที่มีกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่มีนักท่องเที่ยวมาก และมีการแพร่จากคนสู่คนได้ จึงจะต้องมีการแยกคนกลุ่มเสี่ยงออกมาเพื่อลดการแพร่กระจายโรคในสถานพยาบาล โดยการเริ่มจะต้องเริ่มจากสถานที่มีสนามบิน แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่มีคนติดเชื้ออยู่เดิมแล้ว ทั้งนี้คือทั้งในรพ.จังหวัด รพ.เครือข่าย รพ.เอกชนและรพ.ในกทม.ทุกเครือข่าย เนื่องจากพบว่าในรพ.เอกชนมีการพบผู้ป่วยที่มีผลจากห้องแล็บเป็นบวกและส่งตัวมารักษาที่รพ.ของกรมการแพทย์ โดยจะพยายามจัดทำคลินิกในสถานพยาบาลทุกแห่งเพื่อรอบรังผู้ป่วย แต่จะต้องเสี่ยงน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับภาระงาน ขณะนี้เราก็ทำเต็มที่ในมาตรการแล้วและได้เปิดทำการคลินิกไปแล้ว อาทิ รพ.ราชวิถี สถาบันเด็กแห่งชาติ สถาบันบำราศนราดูร สถาบันโรคทรวงอก และคาดว่าจะขยายไปในอีกหลายจังหวัด โดยการจัดตั้งคลินิกไข้หวัดนี้คาดว่าจะมีการดำเนินการต่อไปเพื่อเป็นประโยชน์ในการลดการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 และในอนาคตอันใกล้ยังช่วยลดผู้ป่วยในโรคไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย

Advertisement

“ดูจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ช่วงนี้มีการดูแลรณรงค์เรื่องไวรัสโคโรนา2019 ก็ยังสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดได้ โดยมีจำนวนน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี และหากเราจัดระบบได้ รพ.ใหญ่ๆในอนาคต เราอาจจะใช้ระบบนี้ในการแยกผู้ป่วยในโรคไข้หวัดไปด้วย จึงอาจจะคงไว้แต่อาจจะปรับหลักเกณฑ์ ซึ่งปัจจุบันประชาชนมีความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวในเรื่องโรคไข้หวัดมากขึ้น เช่นรายผู้ป่วยแท็กซี่ที่ในบ้านไม่มีผู้ติดเชื้อเลย เนื่องจากเขาเริ่มไม่สบายก็มีการดูแลตัวเอง บุคลากรในหลายระดับของสาธารณสุข เราจึงอาจจะกลับมาคุยกันว่า หากเราพบคนป่วยจะทำอย่างไรได้บ้าง ดังนั้นการจัดตั้งคลินิกเราได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นพ.ณรงค์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยที่ได้รับน้ำเหลืองเลือดของผู้ป่วยคนขับแท็กซี่ที่หายดีแล้ว ขณะนี้อาการเป็นอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า รายงานเบื้องต้นว่าผู้ป่วยอายุ 70 ปี ที่มีอาการของวัณโรคร่วมด้วยนั้นเมื่อแรกรับมีอาการที่จะต้องใช้ท่อช่วยหายใจ มีอาการที่รุนแรงอาการยังทรงตัว แพทย์ให้การรักษาตามอาการและในอีกรายแรกรับก็มีอาการมีค่อนข้างรุนแรงขณะนี้ก็ยังมีอาการทรงตัวเช่นเดียวกัน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรณีของเรือเอ็มเอสเวสเตอร์ดัม (MS Westerdam) โดยมีการรายงานข่าวว่าเรือลำนี้ขอเทียบท่าขึ้นฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทั้งนี้ สธ.จึงได้ประสานไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทยและกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการอนุญาตว่าให้เรือเข้ามาได้หรือไม่ จึงได้ทราบว่าตัวแทนเรือลำนี้ได้ส่งเอกสารประสานมาจริง แต่ยังไม่มีการอนุญาต โดย สธ.ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดการดำเนินงาน ป้องโรคติดต่อเข้าสู่ประเทศไทย การดำเนินการส่วนของ สธ.อาศัยอำนาจพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา23 กำหนดให้มีคณะทำงานประจำช่องทางเข้า-ออก จึงหมายความว่าจะต้องมีคณะทำงานประจำที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย และมาตรา 24 กำหนดอำนาจหน้าที่ว่าจะต้องดำเนินการในอำนาจหน้าที่ เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในมาตรา 39 กำหนดไว้ว่าหากมีเหตุสงสัยว่าเรือที่มาจากพื้นที่มีโรคระบาด มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคที่อยู่ประจำด่านโรคติดต่อระหว่างประเทศสามารถตรวจผู้เดินทางและพาหนะ รวมถึงการพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้เทียบท่าหรือการเข้าเมือง โดยรวมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หรือกรณีท่าเรือจะต้องพิจารณาร่วมกับเจ้าของท่า ซึ่งกรณีนี้ คือท่าเรือแหลมฉบังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐคือกรมเจ้าท่า

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ.ได้มอบหมายให้ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 6 ร่วมกับนพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ นพ.หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี พร้อมคณะทำงาน คาดว่าขณะนี้ถึงที่ท่าเรือแหลมฉบังแล้วและจะมีการหารือเรื่องการดำเนินการให้เหมาะสมที่สุด เบื้องต้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยกรณีดังกล่าวตลอดจนการหารือกันและเบื้องต้นไม่มีการอนุญาตให้เรือลำดังกล่าวเข้าเทียบท่า

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

เมื่อถามว่าได้แจ้งทางเรือลำดังกล่าวแล้วหรือไม่ว่าจะไม่ให้มีการเทียบท่า และในข้อเท็จจริงแล้วเรือลำนี้มีกำหนดการแวะพักที่ประเทศไทยหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โดยปกติแล้วการที่เรือจะจอดที่ไหน จะต้องแจ้งไปยังท่าเรือและจะต้องสำแดงต่อกรมกุศลการกรหรือแจ้งว่ามีผู้เจ็บป่วยหรือไม่ และได้ตรวจสอบไปยังกรมเจ้าท่าแล้วรับทราบว่าเรือได้ประสานข้อมูลมาแล้ว และจะต้องมีขั้นตอนต่างๆ โดยคาดว่าอยู่ในระหว่างการประสานงาน สธ.จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ตามที่มอบหมายแล้วลงไปประสานร่วมกับคณะทำงานประจำช่องทางเข้า-ออก แต่เบื้องต้นเรือได้ดำเนินการแค่ประสานมาเพียงเท่านี้ และนายอนุทินกับนายศักดิ์สยาม ไม่ได้มีการอนุญาตให้เข้าเทียบท่าแต่อย่างใด ส่วนเส้นทางเดินเรือได้สอบถามไปยังผู้จัดจัดทางเรือและเจ้าของเรือแล้ว คาดว่าข้อมูลจะทยอยเข้ามาและตามข่าวจะทราบว่าเรือไม่ได้มีเส้นทางมาประเทศไทย

เมื่อถามว่า หากไม่มีการอนุญาตให้เทียบท่าแล้วการส่งคณะทำงานไปยังท่าเรือ เพื่อการตรวจสอบเรื่องใดเพิ่มเติม นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ถึงแม้จะไม่มีการอนุญาตให้เทียบท่า แต่เบื้องต้นมีการประสานงานมา จึงขึ้นอยู่กับขั้นตอนว่าเรายืนยันหรือไม่

“หากเราไปเที่ยวเมืองไหน และเขาบอกว่าไม่ให้เข้าเมือง คำถามคือเราถอยหลังกลับเลยไหม ก็คือธรรมชาติเราก็จะพยายามสำแดงตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ที่จะต้องแจ้งเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ว่ามีข่าวว่าทางการไทยอนุญาต ซึ่งยืนยันตรงนี้ว่าไม่อนุญาตจากผู้บริหารจากทั้ง สธ.และกระทรวงคมนาคม ว่าไม่มีการอนุญาต” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

เมื่อถามว่า คณะทำงานฯ ลงพื้นที่ไปพิจารณาแล้วก็จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะให้มีการอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรือว่าอย่างไรก็ไม่อนุญาต นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เพื่อลงไปดูข้อมูลหน้างานให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เราไม่ดำเนินงานตามกฎหมายโดยอาศัยเพียงข่าว แต่เราจะต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน แต่ด้วยนโยบายจะต้องสร้างความมั่นใจว่าจะป้องกันและควบคุมไม่ให้มีโรคติดต่อระหว่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย

เมื่อถามย้ำว่าจะต้องมีการนำข้อมูลมาพิจารณาอีกครั้งหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ก็รวบรวมข้อมูล ถ้าข้อมูลไม่ต้องพิจารณาก็ไม่พิจารณา

“ในตอนนี้เรือยังมาไม่ถึง เราต้องตีตนไปก่อนไข้ แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เขาติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ เรื่องนี้เราดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคโดยคำนึงถึงประชาชนเป็นสูงสุดแต่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือหลักมนุษยธรรม เช่นกรณีของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเขาดูประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและภาระของประเทศโดยรวม เมื่อเรือที่เทียบท่าประเทศเขาแล้วแต่เขาไม่อนุญาต แต่เขายังต้องดูแล ไม่ใช่ว่าไม่ให้เทียบท่าแล้วจะไม่ดูแล มันมีเรื่องของมนุษยธรรม มีเรื่องของคนป่วยมันต้องว่าไปตามกรณี แต่ต่างกันเพราะเรือที่จะเทียบท่าที่ไทยไม่ได้มีเส้นทางมาประเทศไทยและเรือยังมาไม่ถึง ให้ติดตามข้อมูลตามภาคราชการเป็นสำคัญ และต้องยืนยันว่า ณ ตอนนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้เรือเทียบท่า” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

เมื่อถามว่า หากมีเรือเข้ามาเทียบท่าจะต้องมาตรการดูแลอย่างไร จะต้องดูแลเช่นเดียวกับมาตรการที่สนามบินหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ภาพรวมของทุกด่านเรามีการดำเนินการเหมือนกันหมด

“แต่ขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามพาหนะที่เดินทาง ผู้เดินทางและช่องทาง เช่น สนามบินเป็นพื้นที่ปิดมาด้วยเครื่องบินและผู้โดยสารมาเป็นล็อต แต่เมื่อเป็นด่านพรมแดนก็จะเป็นคนเดินหรือนั่งรถเข้ามา หลักการเป็นหลักการเดียวกัน คือ 1.ตรวจสอบล่วงหน้า 2.มาถึงจุดคัดกรองว่ามีอาการของระบบทางเดินหายใจหรือไม่ และเมื่อเป็นเรือก็จะเปลี่ยนไป กล่าวคือเรือมี 2 ลักษณะคือ 1.เรือท่องเที่ยว ที่มีคนเยอะ 2.เรือขนส่งสินค้า จะมีคนน้อย ดังนั้นหมายถึงมาตรการจะเป็นไปตามสภาพของช่องทางและพาหนะรวมถึงผู้โดยสารด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image