“เอ็มแคท” เยียวยาใจเหยื่อเหตุกราดยิงที่โคราช พบ 91 คน เครียดสูง 9 คน หวาดกลัวรุนแรง

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาล (รพ.) มหาราชนครราชสีมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.มหาราชฯ จำนวน 21 คน และเยี่ยมให้กำลังใจทีมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งทางกายและใจ โดยมี นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการรพ.มหาราชนครราชสีมา และ นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครราชสีมา ร่วมให้ข้อมูล

นพ.เกียรติภูมิ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพูดคุยกับผู้บาดเจ็บและญาติพบว่า ทุกคนมีขวัญกำลังใจดีขึ้น บางคนยังมีความวิตกกังวลอยู่บ้าง โดยในส่วนของการดูแลผลกระทบทางจิตใจในภาพรวมนั้น ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ระดมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาะวิกฤต หรือทีมเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) ทั้งในและนอกสังกัด 15 ทีม รวม 73 คน มีผู้เชี่ยวชาญทั้งผู้ใหญ่ เด็ก และวัยรุ่น ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุครั้งนี้ โดยได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการทีมเอ็มแคทฉุกเฉินอยู่ที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ มี นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้บัญชาการศูนย์ และมี นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อให้การทำงานครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สภาพจิตจิตใจของประชาชนฟื้นคืนกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วและมีความปลอดภัยที่สุด

Advertisement

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้จัดแผนการดูแลออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ปฏิบัติงานเต็มพิกัด กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิต และบาดเจ็บ รวมทั้งหมด 88 คน ประกอบด้วยครอบครัวของผู้เสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 58 คน ซึ่งผู้บาดเจ็บขณะนี้ รักษาและกลับบ้านแล้ว 33 คน ยังเหลือนอนพักรักษาตัวที่รพ. 25 คน ทีมเอ็มแคทได้ดูแลจิตใจกลุ่มนี้ทั้งหมดแล้ว ผลการประเมินสภาวะทางจิตใจในรอบ 3 วัน ระหว่าง 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ตรวจทั้งหมด 247 คน พบเครียดในระดับสูง 91 คน ในจำนวนนี้ พบมี 9 คน มีอาการหวาดกลัวรุนแรง นอนไม่หลับ ต้องให้การรักษาเพื่อคลายเครียด อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลืออีก 156 คน เครียดระดับน้อยถึงปานกลาง ได้ให้การปฐมพยาบาลทางใจและปรึกษาคลายเครียด และจะติดตามประเมินเป็นระยะๆ ตามแผน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับในกลุ่มของผู้เสียชีวิต 30 ราย ซึ่งมีภูมิลำเนาใน 9 จังหวัด ดังนี้ จ.นครราชสีมา 20 ราย กรุงเทพมหานคร 2 ราย จ.สมุทรปราการ 1 ราย จ.นราธิวาส 1 ราย จ.บุรีรัมย์ 2 ราย จ.ราชบุรี จ.สมุทรสาคร จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร จังหวัดละ 1 ราย กรมสุขภาพจิตได้จัดระบบดูแลจิตใจของครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้ รพ.จิตเวชที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้ง รพ.ในพื้นที่ให้การดูแลร่วมกัน ไปจนกว่าจะหมดความเสี่ยงและกลับคืนสู่สภาวะปกติ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า มาตรการดูแลในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นผู้ที่ทำงานในห้างเทอร์มินอล 21 โคราช นักเรียนที่ไปจัดกิจกรรมในห้าง กลุ่มนี้จะเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดผลกระทบเพื่อให้การเยียวยาต่อไป และกลุ่มที่ 3 คือ ประชาชน ที่ถูกช่วยออกมาจากห้างในคืนที่เกิดเหตุ ซึ่งได้จัดจุดให้บริการ 2 แห่ง คือ ในรพ.มหาราชฯ และ รพ.จิตเวชโคราช หรือสามารถขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือปรึกษาที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ โทร.0 4423 3999 ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน โดยมีผู้มาขอคำปรึกษาด้วยอาการตกใจง่าย หวาดผวา นอนไม่หลับ ที่ รพ.มหาราชฯ และ รพ.จิตเวชฯ รวม 8 คน

ด้าน นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ในวันนี้ ได้จัดทีมเอ็มแคท จำนวน 8 ทีม ออกปฏิบัติงานเยียวยาที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21โคราช, รพ.ป.แพทย์, รพ.ค่ายสุรนารี, รพ.เซนต์แมรี่,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และทีมลงชุมชนต่างๆ ต่อเนื่อง

สำหรับการปฏิบัติงานของทีมเอ็มแคทในช่วงวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ จำนวน 15 ทีม ปฎิบัติการในพื้นที่ 12 จุด ทั้งในสถานที่ที่เกิดเหตุและใกล้เคียง ได้แก่ ที่ รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ชุมชนท่าตะโก ชุมชนโพธิพันธ์ ชุมชนอรุณสามัคคีโชคดี ชุมชนโนนฝรั่ง วัดดอนขวาง วัดป่าศรัทธารวม วัดคลองไผ่ ชุมชนหนองปรุ บ้านพักของผู้ก่อเหตุในโคราช และที่บ้านที่ จ.ชัยภูมิด้วย ซึ่งจะมีการประเมินผลการดำเนินงานทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image