ไวรัสโคโรนา 2019 แพร่เร็ว-ตรวจยาก ‘หน้ากากอนามัย-ล้างมือ’ ยังจำเป็น

เป็นเวลากว่า 1 เดือน ที่ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะหวั่นวิตกกับการแพร่ระบาดของเชื้อ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019Ž ที่ก่อโรคปอดอักเสบ เพราะขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตก็ยังขยับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่ทุกประเทศจะต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นต้นกำเนิดการระบาดของเชื้อดังกล่าว ได้มีการรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ในวารสาร medRxiv มีประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจ คือ เชื้อตัวนี้มีการติดต่อจากคนสู่คนชัดเจน โดยมีระยะฟักตัวเป็นได้ตั้งแต่วันนั้นหลังจากการสัมผัส จนถึง 24 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ 3 วัน ขณะที่การพบความผิดปกติของปอดจากเอกซเรย์ เป็นเรื่องธรรมดาและไม่สามารถเป็นเครื่องพยากรณ์ได้ชัดเจนว่าจะพัฒนากลายเป็นผู้ป่วยอาการหนักแล้วเป็นวิกฤตหรือไม่ ตอกย้ำการที่ผู้ป่วยเหล่านี้แม้ดูอาการไม่มาก แต่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและเรื่อยๆ ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อมีอาการไข้ไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ที่เข้าระบบคัดกรอง ทำให้มีความยากลำบาก ในการที่จะบอกว่าคนนั้นมีการติดเชื้อหรือไม่ และคนที่ติดเชื้ออาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.4 และเมื่อร่วมกับสถิติในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น 28,018 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 2.01 ตอกย้ำกระบวนการคัดกรอง

“การแยกผู้ติดเชื้อออกตั้งแต่เนิ่นๆ มีการวินิจฉัยทันท่วงทีและเริ่มการรักษา แม้ว่าจะเป็นการประคับประคองตั้งแต่ต้น ซึ่งแตกต่างจากรายงานแรกๆ จำนวน 41 ราย และ 99 ราย โดยที่อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 14.6 และร้อยละ 10 แต่หลังจากนั้น รายงานต่อมา ในผู้ป่วย 133 ราย อัตราเสียชีวิตจะต่ำลงไปอีก ที่สำคัญการที่มีโรคประจำตัวนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกเสมอไปว่าจะทำให้ติดเชื้อง่าย จากผู้ป่วยจำนวน 1,099 ราย ในโรงพยาบาล 522 แห่ง ใน 31 จังหวัด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 จนกระทั่งถึงวันที่ 29 มกราคม 2563 อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 47 ปี และร้อยละ 41.9 เป็นผู้ชาย มีเพียงร้อยละ 1.18 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่สัมผัสกับสัตว์ป่า และมีร้อยละ 31.3 ที่เคยเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น และร้อยละ 71.8 มีประวัติสัมผัสกับคนที่มาจากเมืองอู่ฮั่น และร้อยละ 2.09 เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วยร้อยละ 25.2 มีโรคประจำตัวอยู่อย่างน้อย 1 โรค ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง”Ž ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า ในผู้ป่วยเหล่านั้น ไข้และไอเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดถึงร้อยละ 87.9 และร้อยละ 67.7 ตามลำดับ ขณะที่อาการท้องเสียไม่ใช่อาการที่พบบ่อย และพบน้อยมาก แต่ถ้าดูอาการแรกที่ปรากฏ พบว่าไข้พบได้เพียงร้อยละ 43.8 เท่านั้น และเมื่ออยู่โรงพยาบาลจึงจะพบว่ามีไข้ในผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 87.9

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ระยะฟักตัวของเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3 วัน โดยมีระยะตั้งแต่ภายในวันแรก จนกระทั่งถึง 24 วัน และเวลาที่ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล พบความผิดปกติในเนื้อปอดจากการทำคอมพิวเตอร์ในการตรวจ โดยมีลักษณะเป็น ground glass opacity พบได้ถึงร้อยละ 50 ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยจำนวน 840 ราย ที่ได้รับการตรวจคอมพิวเตอร์ของปอดจะมีถึงร้อยละ 76.4 ที่พบว่าปอดบวม ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะขึ้นอยู่กับอาการ และผลการตรวจยืนยันด้วยวิธีอณูชีววิทยา แม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติที่ตรวจพบทางปอดก็ตาม (ร้อยละ 23.87 ต่อ ร้อยละ 5.20) ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะไม่พบความผิดปกติในปอดได้ถึงร้อยละ 23.87 ขณะที่ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจะไม่พบความผิดปกติร้อยละ 5.2 ขณะเริ่มแรก จำนวนเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซท์ ต่ำกว่าปกติในร้อยละ 82.1 ของผู้ป่วย ผู้ป่วยจำนวน 55 ราย หรือร้อยละ 5 ต้องเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยอาการหนัก และในจำนวนนี้ 15 ราย หรือร้อยละ 1.36 เสียชีวิต ทั้งนี้ ภาวะปอดอักเสบ หรือปอดบวมรุนแรงร่วมกับอาการมีความความสัมพันธ์กับการที่ต้องเข้าในห้องผู้ป่วยอาการหนัก ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การรักษาในโรงพยาบาล มีทั้งการให้ออกซิเจน การใส่เครื่องช่วยหายใจ การให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดดำ และการให้ยา oseltamivir ในร้อยละ 38 ร้อยละ 6.1 ร้อยละ 57.5 และร้อยละ 35.8 ตามลำดับ มีการให้ยาสเตียรอยด์ในร้อยละ 18.6 และการให้ออกซิเจนแบบพิเศษ extracorporeal membrane oxygenation ในผู้ป่วย 5 ราย ที่มีอาการหนักมาก

”ข้อสรุปของรายงานนี้ คือ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีการแพร่ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่จะมีผู้ป่วยไม่มากนักที่จะพบว่ามีปอดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ ความรุนแรงของโรค สามารถพยากรณ์ได้จากการรวมหลายปัจจัยเข้าด้วยกัน ทั้งระดับความอิ่มตัวของออกซิเจน จังหวะความเร็วของการหายใจ ระดับของเม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดลิมโฟไซท์และร่วมกับความผิดปกติของผลการเอ็กซเรย์ปอดŽ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีข้อสงสัยว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวได้นานเท่าใด และจะมีวิธีกำจัดได้หรือไม่ว่า จากรายงานในวารสารการติดเชื้อในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ยังคงให้คำตอบเช่นเดียวกับที่มีรายงานมาก่อนหน้านี้ในวารสาร appl Environ Microbiol ปี 2553 ทั้งนี้ โดยการศึกษารูปแบบของไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์ส และไวรัสโคโรนาตัวอื่นๆ รวมทั้งไวรัสตัวแทนที่มีลักษณะคล้ายกัน ได้แก่ TGEV MHV ผลที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทั้งอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ โดยที่ไวรัสเหล่านี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิวโลหะ แก้ว หรือพลาสติก ได้นานถึง 9 วัน ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส TGEV MHV ไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 28 วัน ที่อุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าอุณหภูมิ 30 องศาขึ้นไป จะมีชีวิตอยู่ได้น้อยลง  “ส่วนความชื้นมีส่วนทำให้ไวรัสอยู่ได้นานขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ความชื้นที่ร้อยละ 50 ไวรัส เช่น HCoV 229E จะมีชีวิตอยู่ได้ดีกว่าที่ความชื้นร้อยละ 30 สามารถฆ่าได้ด้วยแอลกอฮอล์ 62-71% ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5%. หรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.1% ภายใน 1 นาที สารฆ่าเชื้อตัวอื่น เช่น เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ 0.05-0.2% และ 0.02% คลอเฮกซิดีน ไดกลูโคเนท 0.02% ได้ผลไม่ดีŽ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า ในส่วนของการเอามือไปสัมผัสพื้นผิว แม้ว่าจะไม่มีการศึกษาโดยตรงกับไวรัสโคโรนาก็ตาม แต่ถ้าใช้การศึกษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ จะพบว่าเพียงแค่เอามือไปสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสอยู่เพียง 5 วินาที จะสามารถมีตัวไวรัสติดขึ้นมาที่มือได้ร้อยละ 31.6 แต่ไวรัสพาราอินฟลูเอนซา 3 วินาที การส่งผ่านมาที่มือจะต่ำกว่าเหลือเพียงร้อยละ 1.5 ที่การสัมผัส 5 วินาที นอกจากนั้น การศึกษายังพบว่านักเรียนมีแนวโน้มที่จะสัมผัสหน้าตนเองด้วยมือตนเองโดยเฉลี่ย 23 ครั้งต่อชั่วโมง โดยสัมผัสที่ผิวหน้าร้อยละ 56 ตามด้วยเอามือไปสัมผัสที่ปาก ร้อยละ 36 ที่จมูกร้อยละ 31 และที่ตาร้อยละ 31 และนี่เป็นเหตุผลที่สำคัญ ที่ต้องทำความสะอาดพื้นผิว ต้องล้างมือบ่อยๆ ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุตาจมูกและปาก ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาการจะรุนแรงมากน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย และอยู่ที่ว่าร่างกายคนนั้นแข็งแรงเพียงใด

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

สุดท้าย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ย้ำว่า ในการป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยนั้น ที่สำคัญต้องพิจารณาจากสถานการณ์ คือ 1.ตนเองไม่สบาย หรือ 2.แพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยโดยไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยนั้นๆ จะสามารถแพร่เชื้อออกมาทางละอองฝอยจากการพูด ไอ จามหรือไม่ และ 3.คนปกติที่ต้องเข้าไปในสถานการณ์ที่มีคนหนาแน่นโดยห่างกันน้อยกว่า 1 เมตร โดยที่ไม่ทราบว่าคนที่ยืนอยู่ใกล้ชิดนั้นป่วยหรือไม่และสามารถจะแพร่เชื้อได้หรือไม่ แต่หากเดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ หรืออยู่คนเดียวก็ไม่ต้องสวมให้เปลือง เดินชมนกชมไม้ไป!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image