‘ไวรัสอู่ฮั่น’ มีชื่อทางการ ‘Covid-19’ สธ.เผยข่าวดีผู้ป่วยติดเชื้อกลับบ้านอีก 1 ราย

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์แพร่ระบาดโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีชื่อที่กำหนดอย่างเป็นทางการว่า Covid-19 หรือ โรคไวรัสโคโรนา19 ส่วนสถานการณ์ภายในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 33 ในวันนี้ คณะแพทย์ได้ให้ผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย เป็นชายชาวจีน เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว รวมมีผู้ป่วยที่กลับบ้านแล้วสะสม 11 ราย และยังอยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 22 ราย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลคาดว่ามีผู้ป่วย 3 ราย ที่แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านเป็นลำดับต่อไป ได้แก่ รายที่ 1 คนไทยที่ทางการไทยเดินทางไปรับจากเมืองอู่ฮั่นโดยรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ชลบุรี ผลตรวจจากห้องปฏบัติการ (แล็บ) เป็นลบ รอการตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน หากไม่พบเชื้อไวรัส แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องกลับเข้าไปกักโรคอีก รายที่ 2 ผู้ป่วยที่สถาบันบำราศฯ ผลแล็บออกมาเป็นลบ รอการตรวจซ้ำ หากไม่มีการติดเชื้อก็จะให้กลับบ้านได้ และ รายที่ 3 ผู้ป่วยที่ รพ.ราชวิถี ขณะนี้แพทย์ให้ออกจากห้องแยกโรค โดยให้กลับไปพักที่หอผู้ป่วยที่มีการแยกกลุ่มออกมาจากผู้ป่วยรายอื่น คาดว่าจะแพทย์ที่ รพ.ราชวิถี จะให้กลับบ้านได้เมื่อผลแล็บเป็นลบ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ขณะนี้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีการรักษาตามโรคควบคู่กับการรักษาตามอาการ ส่วนอาการของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ที่ได้รับการถ่ายน้ำเหลืองเลือดจากผู้ป่วยยืนยันที่หายดีแล้ว ผลออกมาคือ อาการยังทรงตัว ใกล้เคียงกับอาการเมื่อแรกรับ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะติดตามดูแลรักษาควบคู่กับคำแนะนะจากผู้เชี่ยวชาญ ภาพรวมของการคัดกรองพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนสะสมจำนวน 799 ราย ซึ่งเหลือที่รักษาตัวอยู่ใน รพ. เพียง 212 ราย สังเกตได้ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนที่เหลืออยู่ใน รพ.มีจำนวนน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของระบบการคัดกรอง การวินิจฉัย การคลินิก ทางห้องแล็บในการตรวจโรค มีการดำเนินการเป็นระบบและมีประสิทธิภาพขึ้นมาก

Advertisement

“ขณะนี้สถานการณ์เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ และการที่ประเทศจีนมีการดำเนินการในประเทศเข้มข้นและเข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจากจีน ลดน้อยลงมาก โดยข้อมูลล่าสุดผู้ที่มาจากเมืองอู่ฮั่น ลดลงมาตามลำดับ จนเหลืออยู่เพียงส่วนที่รอการเดินทางกลับ หลายส่วนที่ค้างเราตรวจจับคนที่มีไข้ หรือตรวจพบเชื้อเข้าสู่ระบบ รวมถึงผู้สัมผัสด้วย จึงทำให้ประชาชนสบายใจได้ สำหรับคนที่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง ยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองตามมาตรการที่ สธ.ให้คำแนะนำอย่างจริงจัง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ส่วนกรณีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยส่งจากประเทศไทยไปประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา และมีรายงานว่าเริ่มมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด จึงนำไปรักษาตัวและอยู่ในระหว่างการหาเชื้อไวรัสโคโรนา19 หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบ หากจะมีการส่งตัวผู้ต้องขังในลักษณะดังกล่าว จะต้องมีการตรวจสุขภาพ เช่น การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจผลจากห้องแล็บ และหากมีโรคบางโรคก็จำเป็นต้องเอกซเรย์ อาทิ วัณโรค โรคระบบทางเดินหายใจ และหากมีการส่งตัวออกไปได้จะต้องมีอาการปกติ เพราะไม่สามารถส่งคนที่ป่วยขึ้นเครื่องบินไปได้

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า รายนี้เป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน อาการปกติดี ก่อนส่งตัวกลับก็มีการตรวจสุขภาพแล้ว ไม่พบเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทั้งยังส่งตัวไปตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ซึ่งระยะเวลาค่อนข้างห่างเกิน 2 สัปดาห์แล้ว หากเกิดอะไรขึ้นก็น่าจะเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตามขณะนี้รอข้อมูลเพิ่มเติมจากประเทศอังกฤษ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในต่างประเทศมีการเตือนให้เลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย และในส่วนของประเทศไทยจะต้องเตือนไม่ให้ประชาชนเดินทางไปประเทศอื่นที่นอกเหนือจากประเทศจีนหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จะต้องใช้คำว่าให้คำแนะนำ ซึ่งก็จะมีคำแนะนำในเรื่องของวิธีการปฏิบัติและคำแนะนำของการหลีกเลี่ยง สำหรับประเทศจีนชัดเจนแล้ว และสำหรับประเทศอื่นๆ จะต้องมีการพิจารณาและหารือกัน และในประเทศที่พบว่ามีการติดเชื้อภายในประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นเพียงการเกิดเป็นกลุ่มอย่างเช่นในประเทศไทยเอง โดยเป็นพื้นที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ 1.ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวควรทราบวิธีปฏิบัติตน 2.แนะนำหากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ไม่ได้มีการห้ามแต่หากเลี่ยงได้ให้เลี่ยงไปก่อน แต่ยังไม่ได้มีการประกาศหรือกำหนดในลักษณะของการเตือนว่าไม่ให้เดินทางไปประเทศอื่น

“เราเชื่อในมาตรการของประเทศอื่นที่มีการดำเนินการ และเราก็เชื่อว่าคนที่จะเดินทางไปในแต่ละประเทศเมื่อได้รับคำแนะนำก็จะมีการปฏิบัติ รวมกระทั่งผู้ที่มีอาชีพที่ต้องประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แม้ว่าบางประเทศมาเตือนเราในลักษณะแบบนั้น แต่ไม่ได้มีความจำเป็นว่าเราจะต้องไปนั่งพิจารณาในลักษณะแบบเดียวกับเขา รวมทั้งประเทศเรายังไม่ได้มีการประกาศในเรื่องของการจำกัดการเดินทาง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image