‘เอ็นจีโอ’ ลุยรณรงค์ ‘สวมถุงยางอนามัย’ สกัดเอชไอวี-โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์-ท้องไม่พร้อม

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์กร Aids Healthcare foundation(AHF) Thailand ร่วมกับองค์กรภาคี อาทิ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แอพพลิเคชั่นบลูดี จัดงานมอบรางวัลเยาวชนประกวดคลิปวีดิโอสั้นเพื่อรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย ให้สอดคล้องกับเทศกาลวาเลนไทน์ ในชื่อโครงการ “สวมโลกใบใหม่ให้ condom”

นายกฤษสยาม อารยะวงศ์ไชย ผู้จัดการ AHF Thailand กล่าวว่า สธ.และภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย พ.ศ.2563-2573 ตามเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์คือไม่มีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่อีกในปี 2573 ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การลดการตีตราเยาวชนที่พกถุงยาง โดยจัดอบรมเยาวชนรวม 42 ทีมเพื่อผลิตคลิปวีดิโอสนับสนุนการใช้ถุงยางและจะเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ ของสื่อที่เป็นภาคีต่อไป

ขณะที่ พญ.มณฑิณี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 5,000-6,000 ราย ต้องยุติให้น้อยกว่า 1,000 รายต่อปี ให้ได้ใน 10 ปีนี้ ซึ่งกลุ่มประชากรที่การณรงค์เข้าถึงยากคือกลุ่มชายรักชาย กลุ่มค้าประเวณี กลุ่มสาวข้ามเพศ กลุ่มผู้ต้องขัง สธ.ต้องมีเครือข่ายรณรงค์ช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มนี้ และต้องรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติ ให้เป็นวัสดุที่คุ้นชินกับการพกพา

Advertisement

“ภาคีเครือข่ายที่จัดทำยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัยพบว่า การสำรวจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี อัตราใช้ถุงยางต่ำลง ซึ่งจากกลุ่มตัวอย่างเราพบตัวเลขหนึ่ง แต่ถ้าสำรวจวัยรุ่นทุกคนคาดว่าจะใช้อยู่เพียงร้อยละ 45 ทำให้เกิดแนวโน้มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำคัญเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า มากที่สุดคือหนองที่ติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.7 ซิฟิลิสก็เพิ่มขึ้นมาก ในวัยรุ่นเรียกว่า 124 คนต่อแสนประชากร หรือ 14 คนต่อวัน อีกทั้งการไม่ใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นทำให้มีการตั้งครรภ์ ซึ่งมีการประเมินว่า วัยรุ่นที่คลอดลูก ร้อยละ 35 หรือสรุปเป็นตัวเลขคือ 190 คนต่อวัน หรือ 3 คนต่อจังหวัด ตัวเลขนี้เฉพาะการคลอด ไม่นับการทำแท้ง” พญ.มณฑิณี กล่าว

Advertisement

พญ.มณฑิณี กล่าวต่อไปว่า จากคลิปวีดิโอที่เยาวชนส่งเข้าประกวด มีหลายคลิปที่สะท้อนภาพของผู้หญิงเป็นผู้พกถุงยางเอง เป็นการปรับภาพลักษณ์ของถุงยางอนามัยว่าไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ชาย แต่เป็นการรับผิดชอบร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคู่ไหนก็ตาม ยุทธศาสตร์ถุงยาง ต้องมองความต้องการใช้ให้กับประชาชนทั่วไปไม่ว่าเพศใดก็ตาม พร้อมทั้งต้องมียุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยที่สำคัญคือ การส่งเสริมการใช้ในประชาชนทั่วไป การเข้าถึงถุงยางอนามัยให้ราคาเหมาะกับทุกกลุ่มประชากร

“ปัจจุบันภาครัฐ เอ็นจีโอ สนับสนุน แต่การสนับสนุนไม่เพียงพอ เพราะกลุ่มประชากรยังมีช่องว่างที่ยังต้องเข้าถึงถุงยาง ตามที่เราเคยทำสำรวจ คือต้องมีถุงยาง 105 ล้านชิ้นต่อปี แต่ที่เราได้จากภาคต่างๆ รวมถึงภาคีต่างชาติ สนับสนุนตกอยู่ที่ 70 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งมันก็ยังขาดอยู่ อยากให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจทำกิจกรรมซีเอสอาร์ ตอบแทนสังคมในเรื่องนี้ด้วย” พญ.มณฑิณี กล่าว

พญ.มณฑิณี กล่าวว่า สำหรับกระแสที่มีการรณรงค์เรื่องผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีผลเลือดเป็น U=U คือรับยาต้านจนไม่แสดงอาการและไม่แพร่นั้น ยังถือว่าเป็นงานวิจัย และใช้กับกลุ่มที่ไม่เปลี่ยนคู่นอน ตราบใดที่ไม่มียารักษาเอชไอวีให้หายขาด ก็ต้องรณรงค์การใช้ถุงยางต่อไป การเป็น u=u ถ้าเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้งมันก็มีโอกาสเกิดการแลกเชื้อและเกิดเชื้อดื้อยา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องของยาต้าน แต่ผู้บริหาร สธ. มองถึงเรื่องการผลักดันการใช้ยาเพร็พ (PrEP) อยู่ ซึ่งเป็นยาใช้กินก่อนมีเพศสัมพันธ์หรือพฤติกรรมเสี่ยงสัมผัสเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ซึ่งวิจัยใช้ 3 กลุ่ม คือ ชายรักชาย กลุ่มคู่รักผลเลือดต่างที่คนหนึ่งติดเชื้อ และกลุ่มใช้ยาเสพติด แต่ในผู้หญิงยังไม่มีการรับรอง เพราะการวิจัยจะเลือกวิจัยจากกลุ่มที่มีโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีสูง อย่างไรก็ต้องใช้ยาแพร๊บร่วมกับถุงยางอนามัย

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวคิดเรื่องการใช้ PrEP on Demand คือ การรับยาเพร็พ 2 เม็ด ก่อนมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และรับต่อจากนั้นอีก 1 เม็ดใน 24 ชั่วโมง และรับต่ออีก 1 เม็ดใน 24 ชั่วโมง พญ.มณฑิณี กล่าวว่า ต้องยืนยันว่านโยบายของภาครัฐเห็นชอบเรื่องการใช้เพร็พปกติ กินทุกวัน (PrEP daily) ซึ่งเรื่องการใช้เพร็พ เป็นนโยบายที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้เข้าถึงในหลายๆ พื้นที่ อบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้อบรมผู้บริโภคกินยาได้ถูกต้องว่า ต้องกินอย่างน้อย 7 วัน ก่อนมีเพศสัมพันธ์ และต้องกินต่อเนื่อง 3 เดือนเต็ม และยืนยันว่า ยาไม่ได้ออกแบบให้ไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะมันมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นที่ยาแพร๊บป้องกันไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการทำคลิปวีดิโอของเยาวชนมีความหลากหลายและหลายคลิป แทบจะส่วนใหญ่ ใช้ตัวแสดงเป็นผู้หญิง สามารถชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ผู้หญิงจะพกถุงยาง มีบางคลิปที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายชายเองต้องรู้ขนาดอวัยวะเพศเพื่อซื้อถุงยางได้เหมาะสม และหลายคลิปพยายามสื่อสารให้เห็นว่า ผู้ปกครองเองก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ ควรยอมรับและส่งเสริมให้บุตรหลานป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย บางคลิปไม่ได้รณรงค์เรื่องการพกถุงในเยาวชน แต่รวมไปถึงคู่สมรสที่แต่งงานแล้วเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดยภาพรวมคือ แต่ละคลิปต้องการบอกว่า การใช้ถุงยางอนามัยจะเป็นการรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม โดยคลิปที่ชนะเลิศ เป็นคลิปวีดิโอชื่อ “ไอ้แดงพระโขนง” ของกลุ่ม unique studio และรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นคลิปจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นคลิปจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

นอกจากนี้ ในงานยังมีการออกแบบแพคเกจกล่องใส่ถุงยางอนามัยลวดลายต่างๆ เพื่อลดความอายในการพกถุงยาง โดยศิลปินอิสระต่างๆ โดยจะแสดงภาพถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ และจะนำรูปแบบแพคเกจไปใช้เป็นกล่องหรือซองถุงยางขององค์กร AHF อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image