สธ.เผยคนไข้ ‘โควิด-19’ หายแล้ว 15 ราย ผู้โดยสาร ‘เวสเตอร์ดัม’ เข้าไทยเพิ่ม 35 ราย เข้มเรือเข้า ปท.ทุกลำ

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 34 ราย รักษาหายดีเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยคนไทย รวมเป็น 15 ราย ทำให้เหลือผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล 19 ราย โดยผู้ป่วยอาการรุนแรง 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร ทีมแพทย์ให้การรักษาเต็มที่ พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจาก รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ และสถาบันเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ที่ส่งทีมงานไปช่วยดูแลผู้ป่วย 2 รายนี้ สำหรับผู้ป่วยรายอื่นๆ มีอาการดีขึ้น รวมถึงรายล่าสุดคือ บุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.เอกชนแห่งหนึ่งที่ติดเชื้อ ก็มีอาการน้อยตั้งแต่แรก ถือว่าอาการโดยรวมดี

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยทั่วโลกขณะนี้ 67,185 ราย เสียชีวิต 1,527 ราย เฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีผู้ป่วยราว 6.8 หมื่นคน

“ประเทศไทยมีการทำงานอย่างหนักมา 45 วันแล้ว เพื่อชะลอการระบาดในประเทศไทย ประชาชนทั่วไปคงเห็นแล้วว่าเราทำงานประสบความสำเร็จสูงมาก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของคนจีนและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหลายประเทศมีการระบาดเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ประเทศไทยตรึงการระบาดในระดับต่ำอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน สำหรับภาพรวมเราเริ่มเห็นการแพร่ระบาดในชุมชนของหลายประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยกลับมามีความเสี่ยงจากผู้เดินทางต่างประเทศมากขึ้น หลังจากลดลงไปช่วงหนึ่งจากที่คนจีนเข้าประเทศน้อยลง จึงได้มีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด ขณะที่ไทยก็มีการแพร่ระบาดในวงจำกัด ขณะนี้จึงยังต้องเฝ้าระวังในประเทศ ร่วมกับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มข้นต่อไป” นพ.ธนรักษ์กล่าว

Advertisement

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งมีการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ แต่ก็ยังไม่พบว่ามีรายใดเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค อย่างไรก็ตาม นอกจากด่านอากาศสนามบินต่างๆ แล้ว ยังเข้มข้นผู้เดินทางผ่านด่านเรือ ตั้งแต่มีข่าวเรือไดมอนด์ พรินเซส ซึ่งขณะนี้พบการติดเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางไป 200 กว่าคนแล้ว ดังนั้น เรือทุกลำที่เข้าสู่ท่าเรือของไทย ด่านควบคุมโรคได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบว่าเรือที่จะเข้ามามีไปพื้นที่ระบาดในช่วง 14 วัน ก่อนเรือมาถึงไทยหรือไม่ และเมื่อมาถึงก็ทำการตรวจคัดกรองเข้มข้น ทั้งขาเข้าและก่อนกลับขึ้นเรือไป เพราะหากมีอาการไข้ จะได้สอบสวนควบคุมโรครวดเร็วทันการณ์ ซึ่งทำด้วยความระมัดระวังตามมาตรฐานและเต็มที่ เพื่อให้ไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่มีจำนวนผู้ป่วยระดับต่ำต่อไป

นพ.ธนรักษ์กล่าวถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดโรคโควิด-19 ตอกย้ำ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.โรงพยาบาลเป็นสถานที่ผู้ป่วยมารวมตัวกัน หากสถานการณ์คลี่คลายไปทางมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากขึ้น และไปโรงพยาบาลมากขึ้น ก็ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไปโรงพยาบาลอาจมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย 2.การดำเนินการป้องกันทั้งตัวบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อื่นๆ และผู้ป่วยอื่นๆ เพื่อไม่ให้แพร่ระบาด ในส่วนนี้ต้องมีแผนการควบคุมโรคติดต่อในโรงพยาบาล ซึ่ง สธ.ให้ความสำคัญสูงสุด ตั้งแต่เริ่มมีข่าวแพร่ระบาดจากคนไปคน ได้ทำแนวทางปฏิบัติงาน และให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รับฟังคำชี้แจงแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจะมีการอัพเดตต่อเนื่องเสมอ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องทำตามหลักมาตรฐานการป้องกันตัว เช่น ต้องล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไว้ตลอดเวลาตรวจผู้ป่วยไข้ ไอ เจ็บคอ อาการระบบทางเดินหายใจทุกราย ห้ามจับหน้ากากอนามัยขณะใช้งาน ตรวจเสร็จล้างมือ ถอดหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง หลังทิ้งหน้ากากอนามัยต้องล้างมืออีกครั้ง หรืออาจพิจารณาใส่ถุงมือขณะทำงานตามความจำเป็น ซึ่งมั่นใจว่าหากบุคลากรปฏิบัติตามแนวทางจะป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรได้ ซึ่งบุคลากรแต่ละระดับก็จะมีแนวทางป้องกันตัวแตกต่างกันไปตามความเสี่ยง อย่างกรณีบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยหนัก 2 ราย ก็ต้องแต่งชุดป้องกันเต็มที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องเร่งรัดให้โรงพยาบาลคลินิกโรคทางเดินหายใจ ซึ่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมชี้แจงย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง

Advertisement

“โรคทางเดินหายใจทุกชนิดสามารถหยุดได้ มาตรการสำคัญหยุดการแพร่ระบาด อยู่ที่ตัวผู้ป่วยเป็นหลัก สิ่งที่อยากสื่อในสภาวะเช่นนี้ คือ เราเป็นคนไทยประเทศเดียวกัน ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการควบคุมโรคนี้ สธ.เต็มที่ในการทำงาน แต่การควบคุมโรคจะไม่ประสบความสำเร็จถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยมีพลังอำนาจหยุดการแพร่ระบาด ถ้ามีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้ เจ็บคอ น้ำมูก มีอาการไอจาม ควรพักอยู่กับบ้าน ถ้ามีอาการรุนแรง จำเป็นต้องออกไปพบแพทย์ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย เป็นการป้องกันการแพร่โรคจากเราสู่คนอื่น ถ้าผู้ป่วยไม่ป้องกัน คนรับผลกระทบแรกๆ คือ คนใกล้ชิดมากที่สุด เช่น บ้านเดียวกัน เพื่อนที่ทำงาน การป้องกันโรคจากฝั่งผู้ป่วยจึงมีความสำคัญสูงมาก ให้คนไม่ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนคนไทยแข็งแรงสุขภาพดี ควรหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ หากมีความเสี่ยงสูงให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง โดยคนเสี่ยงสูงตอนนี้ไม่เฉพาะสัมผัสนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น แต่ขยายเป็นใกล้ชิดนักท่องเที่ยวทั้งหมด หากมีอาการไข้ ไอเจ็บคอ ควรเข้าสู่ระบบ” นพ.ธนรักษ์กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

นพ.ธนรักษ์ยังกล่าวถึงประเด็นเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถอยู่ในสภาวะแวดล้อมได้ยาวนานว่า ไม่ควรแตกตื่น หรือกังวล เพราะไม่ว่าเชื้อจะอยู่สภาพแวดล้อมนานขนาดไหน ถ้าหากปฏิบัติตัวเหมือนเดิมตามคำแนะของ สธ. หรือแพทย์ คือล้างมือบ่อยๆ เวลาไปสัมผัสกับสิ่งอื่น รวมถึงทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ มากขึ้น ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงผู้โดยสารและลูกเรือเรือเวสเตอร์ดัมมีเข้ามาในประเทศไทยอีกหรือไม่ นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กล่าวว่า เรือเวสเตอร์ดัมปล่อยผู้โดยสารลงจากเรือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้โดยสารที่เข้าในประเทศไทย ยังไปเฉพาะที่ทางด่านสนามบิน ส่วนด่านบก และด่านเรือ ยังไม่มี

“วันที่ 14 กุมภาพันธ์ มีเข้ามา 9 คน เป็นคนต่างประเทศ 8 คน ต่อเครื่องกลับไปทางยุโรป อเมริกา แล้ว และคนไทย 1 คน ก็พบว่าไม่มีไข้ จะติดตามจนครบ 14 วัน ส่วนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีเข้ามาทั้งหมด 35 ราย เป็นคนต่างชาติ 34 ราย ส่วนใหญ่ไปที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไม่ได้ลงจากเครื่อง ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติอเมริกัน อังกฤษ และเยอรมนี ส่วนอีกรายเป็นคนไทย มีการตรวจหาเชื้อให้ผลเป็นลบ จะติดตามจนครบ 14 วันเช่นกัน” นพ.สุวิชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image