สบส.เตรียมเอาผิด “หมอโบท็อกสยอง” สาวดับคาห้องพักหลังฉีดได้ 1 วัน

สบส.เตรียมเอาผิด “หมอโบท็อกสยอง” สาวดับคาห้องพักหลังฉีดได้ 1 วัน

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีสบส. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคลินิกเสริมความงาม ย่านเพชรเกษม หลังพบหญิงสาวเสียชีวิตในห้องพักย่านถนนเพชรเกษม โดยบุคคลใกล้ชิดเผยว่าผู้เสียชีวิตเพิ่งเข้ารับบริการฉีดสารเสริมความงามกับคลินิกแห่งหนึ่ง ย่านเพชรเกษม 81 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการเสียชีวิตเกิดจากโรคประจำตัวคือโรคหัวใจหรือผลข้างเคียงจากการเสริมความงาม

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าคลินิกดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณถนนเพชรเกษมซอย 81 เขตบางแค มีการขออนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้บริการเสริมความงาม อาทิ การฉีดสารเสริมความงาม ร้อยไหม ฯลฯ แต่ขณะเวลาที่เปิดทำการแพทย์ผู้ดำเนินการไม่ได้อยู่ให้บริการ แม้ว่ามีแพทย์ท่านอื่นให้บริการแต่ไม่ได้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงเป็นผู้ให้บริการในคลินิก(สพ.6) ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจึงถือว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเดิม(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ฐานไม่จัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลตามวิชาชีพและจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงตลอดเวลาทำการ และไม่จัดให้มีและรายงานหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลและผู้ป่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน กฎกระทรวง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมนำข้อมูลที่ได้เสนอให้แพทยสภาตรวจสอบทางมาตรฐานวิชาชีพ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตต้องรอผลการชันสูตรพลิกศพจากมหาวิทยาลัยก่อน

“ขณะที่ลงพื้นที่คลินิกไม่ได้เปิดทำการแต่จากการสอบถามจากผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ที่ฉีดโบท๊อกซ์เป็นเพียงคุณหมอพาร์ทไทม์ เบื้องต้นได้นำข้อมูลเวชระเบียนมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ชื่อของผู้ที่ฉีด แต่เบื้องต้นมีความผิดคือโดยปกติผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาลจะต้องมีรายชื่อ สพ.6 แต่ที่นี่ไม่มีข้อมูลแจ้งไว้ มีแต่ข้อมูลผู้ดำเนินการสถานพยาบาลซึ่งเป็นคุณหมออีกท่านหนึ่ง ส่วนผู้ที่เป็นคนฉีดสารเบื้องต้นผู้ประกอบการแจ้งว่าเป็นคุณหมอพาร์ทไทม์ แต่ว่าได้ข้อมูลจากผู้ดำเนินการว่า ไม่รู้จักกับคุณหมอท่านนี้และไม่แน่ใจว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจริงหรือเปล่า ซึ่งหากไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ก็จะเป็นหมอเถื่อน มีโทษรุนแรง จำคุก 3 ปีปรับไม่เกิน 30,000 บาท”

Advertisement

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ประการสำคัญเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาเหตุการเสียชีวิต พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบประเด็นสำคัญอีก 1 ประเด็น คือ ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ผู้ให้บริการฉีดสารเสริมความงามแก่ผู้เสียชีวิตเป็นแพทย์ที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่ามีการนำบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์มาให้บริการในคลินิก สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อทั้งตัวหมอเถื่อนและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล เพิ่มอีก 2 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตถือว่าเป็นหมอเถื่อน มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2.ผู้ดำเนินการปล่อยให้บุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์ทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาล มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยบาล พ.ศ.2541 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของแพทย์จะส่งเรื่องให้แพทยสภาพิจารณาดำเนินการ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากเป็นคลินิกที่ได้มาตรฐานจะพบว่าหน้าคลินิกจะมีใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการที่จะเป็นบุคคลหรือบริษัทก็ได้ และมีรายชื่อผู้ดำเนินการหรือเรียกง่ายๆว่า ผู้จัดการทางการแพทย์ อย่างน้อย 1 คน และผู้ให้บริการอื่นๆ จะต้องมีใบ สพ.6 เช่น หากมีแพทย์ในคลินิกที่จะเวียนกันทำงาน จะต้องมีรายชื่อจะต้องยื่นว่ามีกี่คน เพื่อการตรวจสอบหากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น แต่ทางคลินิกแห่งนี้ไม่มีการแจ้งข้อมูลของใบ สพ.6 ไว้ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องแจ้ง จึงอยากเตือนผู้รับบริการว่า ในกรุงเทพมหานครมีคลินิกที่ถูกต้องกว่า 4,000 แห่ง หากจะเข้ารับบริการจะต้องตรวจสอบว่า 1.เป็นคลินิกที่ถูกต้องหรือไม่ 2.มีใบประกอบกิจการหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของ สบส. 3.แพทย์ผู้ดำเนินการจะต้องถูกต้อง เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบเวชกรรมจริง 4.ดูว่ายาหรือสารที่ใช้มีการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ชัดเจนหรือไม่

ด้าน ทพ.อาคม กล่าวว่า สารที่มีชื่อว่า คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botuinum) หรือที่เรียกกันจนติดปากว่าโบท๊อกซ์ (Botox) เป็นสารสกัดจากจุลินทรีย์ที่นิยมใช้ในการเสริมความงาม ลดริ้วรอยบนใบหน้า หลังฉีดจะอยู่ได้นาน 4-6 เดือน ซึ่งยาชนิดนี้จัดเป็นยาอันตราย มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงตั้งแต่ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กล้ามเนื้อเปลือกตาหย่อน จนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร้ายแรงที่สุด หากฉีดผิดขนาด อาจทำให้เสียชีวิตได้ จากการหยุดหายใจ กระบังลมไม่ทำงาน ซึ่งการฉีดต้องอยู่ภายใต้การดูแลใกล้ชิดจากแพทย์และต้องทำในสถานที่มีเครื่องมือพร้อมรับเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งทาง อย. มีการออกประกาศในการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน และกำหนดให้ผู้นำเข้า ผู้ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันทุกรายส่งแผนการจัดการความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image