“อุ้มบุญข้ามชาติ” รอสอบเพิ่ม แพทย์เผยกฎหมายไทยมีข้อกำหนดให้อุ้มท้องแทนได้ แต่มีข้อจำกัด

“อุ้มบุญข้ามชาติ” รอสอบเพิ่ม แพทย์เผยกฎหมายไทยมีข้อกำหนดให้อุ้มท้องแทนได้ แต่ต้องอยู่ในข้อจำกัด

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีสบส. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ได้สนธิกำลังกับหน่วยงานต่างๆ เข้าจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งเป็นเครือข่ายอุ้มบุญที่ และทำการตรวจยึดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากการที่ สบส.ได้ขยายผลตรวจสอบหลักฐานหาความเชื่อมโยงร่วมกับ ปคม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นอาจมีสถานพยาบาลที่เข้าข่ายว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิด จำนวน 9 แห่ง ในจำนวนนี้มี 6 แห่งที่เป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองในการดำเนินการอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ แต่อีก 3 แห่งไม่ได้รับอนุญาต บุคลากรที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง และแพทย์จำนวน 4 คน เป็นแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่อยู่ในระหว่างตรวจสอบว่าทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับอนุมัติใบในการได้รับอนุญาตดำเนินการคลินิกเจริญพันธุ์ทางการแพทย์หรือไม่  หากไม่ได้รับอนุญาตแต่ไปดำเนินการก็จะมีความผิด  ในขณะนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สบส.อยู่ระหว่างตรวจผลการตั้งครรภ์ของผู้รับจ้างตั้งครรภ์แทน จำนวน 7 คน รวมทั้งตรวจดีเอ็นเอ(DNA) ของเด็กที่พบในที่เกิดเหตุ 2 คน จากการร้องขอจากพนักงานสอบสวนเพื่อหาว่าเด็กทั้ง 2 คนนี้เป็นเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญหรือไม่

หากตรวจพบว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 จะมีโทษ ดังนี้ 1.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ขออนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.เป็นคนกลาง นายหน้า โดยเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการรับตั้งครรภ์แทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในส่วนของยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พบสถานที่ที่เกิดเหตุทาง ปคม.ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ตรวจสอบยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณคาดว่าใช้กระตุ้นฮอร์โมนช่วยในการตั้งครรภ์ และเครื่องมือ คาดว่าจะเป็นการใช้ผสมไข่และสเปิร์ม อุปกรณ์ทางการแพทย์ว่ามีการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นพบการกระทำผิด 3 ข้อหา ดังนี้ 1.ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 2.ขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 3,000 บาท และ 3.ผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ มีความผิดตามพ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การตั้งครรภ์แทนมีกฎหมายที่สามารถอนุญาตได้ คือ พ่อแม่เป็นคู่สมรสคนไทย ถูกต้องตามกฎหมาย หรือหากเป็นชาวต่างชาติจะต้องสมรสกับคนไทยอย่างน้อย 3 ปี จึงจะขออนุญาตทำได้ที่สถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน 97 แห่ง เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย”

ด้าน ทพ.อาคม กล่าวว่า ในความผิดของการรับตั้งครรภ์แทน มีกระบวนการเอาผิดตั้งแต่ผู้ที่รับตั้งครรภ์ นายทุนต่างชาติ และนายหน้าที่ชักจูงรวมถึงแพทย์ที่ดำเนินการ และความสำคัญคือ ผู้ร่วมดำเนินงานเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีเด็กอายุ 8 ขวบแล้วจึงนำส่งไปต่างชาติ หมายความว่าเด็ก 8 ขวบมีอวัยวะพร้อมใช้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก จึงมีโทษจำคุกที่ค่อนข้างแรง

เมื่อถามว่าแพทย์ทั้ง 4 คนมีรายชื่ออยู่ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตในจำนวน 9 แห่งหรือเป็นสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีทั้ง 2 ส่วน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นได้มาจากพนักงานสอบสวนและจะต้องลงไปตรวจข้อมูลข้อเท็จจริง

เมื่อถามว่า การจับกุมอุ้มบุญครั้งนี้มีการเชื่อมโยงกับกรณีการลักลอบขนอสุจิข้ามประเทศก่อนหน้านี้หรือไม่ นพ.อาคม กล่าวว่า เป็นเรื่องสืบเนื่องกัน โดยก่อนหน้านี้มีการลักลอบขนอสุจิออกนอกประเทศไทย และตอนนี้มีการเปลี่ยนวิธีการกลไกด้วยการนำไข่อสุจิในไทยและต่างประเทศไปผสม โดยใช้แพทย์ในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญเดินทางไปต่างประเทศแทนและมีการนำตัวอ่อนฝังในมดลูกของผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์และเดินทางกลับมายังประเทศไทย หากถามว่าเกี่ยวเนื่องกันไหม ก็เป็นการต่อยอดกันในทางกฎหมาย คือเป็นการใช้แพทย์และเทคโนโลยี วิชาการของประเทศไทย และนำครรภ์มาฝากในประเทศไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image