สร้าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” อีก 10 ปีเป็นไปได้ทั่วโลก WHO แนะนานาชาติดู “ไทย” เป็นแบบอย่าง

สร้าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

อีก 10 ปีเป็นไปได้ทั่วโลก

WHO แนะนานาชาติดู “ไทย” เป็นแบบอย่าง

 

Advertisement

การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-วันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ถือโอกาสส่งตัวแทนเป็นผู้บริหารระดับสูงคือ “นาโอโกะ ยามาโมโตะ” (Naoko Yamamoto) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เพื่อเข้าร่วมถ่ายทอดวิสัยทัศน์ UHC 2030 ของสหประชาชาติ (UN) ตามแผนพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ในการผลักดันให้ทุกประเทศทั่วโลกพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเอง ภายในปี 2573

นาโอโกะ ให้สัมภาษณ์พิเศษบอกเล่าถึงวิสัยทัศน์ของ WHO ในการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นได้จริง พร้อมทั้งวิเคราะห์โอกาส และความ “เป็นไปได้” ที่เธอเชื่อว่า แม้จะเป็นการเดินทางที่แสนไกล แต่เป้าหมาย น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

“ปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขขณะนี้ คือ ประชากรทั่วโลกเกินครึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ และมากกว่า 100 ล้านคน ต้องตกอยู่ภายใต้ความยากจน เพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงมีความคิดว่า ทุกประเทศทั่วโลก ควรมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของตัวเอง” นาโอโกะ เกริ่นให้ฟัง

ด้วยเหตุนี้ ยูเอ็นจึงกำหนดเป้าหมายตั้งแต่ปี 2558 ให้ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมลงนามในแผนพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพของตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า และเพิ่งมีการประชุม “ผู้นำสูงสุด” เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นดังกล่าว เมื่อปี 2562 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมด้วยตัวเอง

นาโอโกะ บอกว่า ตลอด 5 ปี มีความคืบหน้าให้เห็นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย ที่เริ่มใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เคนยา ฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งกัมพูชา ต่างก็มีความพยายามริเริ่มระบบประกันสุขภาพโดยรัฐ เป็นของตัวเอง ขณะที่อีกหลายประเทศก็สนใจสร้างระบบนี้ขึ้น โดยติดต่อมายัง WHO เพื่อขอรับการสนับสนุน ทั้งในแง่องค์ความรู้ และขอสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปวางระบบ

นาโอโกะ ยามาโมโตะ

“หน้าที่ของ WHO ก็คือ เราสามารถให้คำปรึกษาได้ว่า ถ้าจะเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรจะวางระบบด้านการเงินการคลังอย่างไร สร้างระบบประเมินคุณภาพแบบไหน และควรจัดสิทธิประโยชน์อย่างไรให้เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ ซึ่งจุดแข็งก็คือ เรามีพันธมิตรจำนวนมากที่เคยตั้งไข่ระบบนี้สำเร็จมาแล้ว” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าว

แน่นอน หนึ่งในความสำเร็จที่นาโอโกะ มักจะยกตัวอย่างให้นานาชาติได้ฟัง คือความสำเร็จของ “ประเทศไทย” ที่เริ่มต้นระบบนี้ขึ้นเมื่อปี 2544 หรือเมื่อ 19 ปีก่อน

“จุดแข็งของไทยมีหลายด้าน ตั้งแต่การสร้างระบบการมีส่วนร่วม ลงลึกไปถึงระดับชุมชน ขณะเดียวกัน ระบบส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรค ของไทยก็เข้มแข็งเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับบรรดาบุคลากรสาธารณสุข ไม่ย่อหย่อนไปกว่าเรื่องการรักษาสุขภาพ และเมื่อลงลึกถึงระดับการกำหนดนโยบาย-การตัดสินใจ ไทยก็มีกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ที่ทำให้เห็นว่าเรื่องของนโยบายสาธารณสุข ไม่ได้มาจากบนลงล่างเท่านั้น เรื่องพวกนี้คือ เรื่องที่เรานำไปเล่าให้กับนานาชาติฟังอยู่หลายรอบ หากพูดถึงเรื่องสุขภาพ เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า ไทยคือผู้นำ ทั้งในระดับภูมิภาค และในระดับโลก” นาโอโกะ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ WHO ยอมรับว่า ไม่ง่ายนัก หากจะทำให้ประเทศสมาชิกยูเอ็นทั้งหมด 196 ประเทศทั่วโลก สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะแต่ละประเทศ ต่างก็มีความ “เข้มแข็ง” ที่แตกต่างกัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะให้ทุกประเทศเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพด้วยวิธีเดียวกัน คงไม่สำเร็จ

“แต่การจะเริ่มต้นสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ว่า ต้องการเห็นความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบสุขภาพ เข้าถึงการรักษา แน่นอน นี่เป็นเรื่องการเมือง ที่ผู้นำประเทศ-รัฐบาล ของทุกชาติ ต้องให้คำมั่นสัญญากับประชาชนของตัวเองว่า จะแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณสุขแบบ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนยากจน หรือประชากรชายขอบ ก็ล้วนมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินจ่ายหรือไม่” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ WHO ขยายความ

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่นาโอโกะเห็นว่าสำคัญต่อการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คือ การดึง “ทุกเสียง” เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือบรรดาบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ นอกจากนี้ บรรดารัฐบาลท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคม ก็เป็นส่วนสำคัญในการสะท้อนความต้องการไปยังรัฐบาล เพราะระบบนี้ ไม่สามารถทำโดยรัฐบาลกลางเพียงฝ่ายเดียวได้

ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างความแข็งแกร่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งใกล้ชิดกับ “ชุมชน” มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ “สังคมผู้สูงอายุ” กำลังขยายวงกว้างไปทั่วโลก เพราะฉะนั้น การสร้างผู้สูงอายุที่สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นระบบสุขภาพที่ทั่วโลกพึงปรารถนา

แน่นอน เรื่องสังคมผู้สูงอายุ และเรื่องโรคค่าใช้จ่ายสูง ถือเป็นปัจจัยท้าทายใหม่สำหรับประเทศที่สร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จแล้วหลายประเทศทั่วโลก โดยนาโอโกะ ยกตัวอย่างประเทศของเธอ คือ “ญี่ปุ่น” ซึ่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2504 ก็พบกับความท้าทายนี้เช่นกัน

“เรื่องเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ความสำคัญของระบบนี้ ไม่ใช่แค่การ ‘สร้าง’ ระบบให้เกิดขึ้นอย่างเดียว แต่การรักษาไว้ และสร้างระบบที่ยืดหยุ่นพอจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อย่างเรื่องสัดส่วนประชากร เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่หลากหลาย และเรื่องค่าใช้จ่ายด้านยา-เทคโนโลยี ก็ถือเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งทั้งหมดนี้ หากได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งหมายรวมทั้งความสำเร็จ และความผิดพลาดของแต่ละประเทศ ก็จะทำให้รัฐบาลแต่ละชาติ มีภูมิคุ้มกันในการออกแบบระบบที่ดีขึ้น” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ WHO ระบุ

ถึงตรงนี้ นาโอโกะ ยังเชื่อว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมี “ความคืบหน้า” มากขึ้นไปอีก และจะเกิดขึ้นได้จริงในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ทั้งหมดนี้ ก็ต้องการ “แรงผลัก” ทั้งจากประชาชนในประเทศเหล่านั้น และจากประชาคมโลก ที่จะช่วยกันสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมรับมือกับปัจจัยท้าทายใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image