แพทย์แนะการชุมนุมรวมตัว ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม แนะหลีกพื้นที่แออัด ป้องกันติดเชื้อ

แพทย์แนะการชุมนุมรวมตัว “ไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะจัดงานไม่สำคัญจำเป็น” สถานการณ์โควิด-19 ไทยรักษาหายเพิ่มอีก 1 ราย

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุภาพที่ 10 แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในวันนี้มีผู้ป่วยที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่ม 1 ราย คือ ผู้นำเที่ยวชาวไทย 1 ใน 138 คนที่กลับจากเมืองอู่ฮั่น อยู่ในการกักโรคที่ อ.สัตหีบ เมื่อพบว่ามีการอาการป่วยจึงส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) ชลบุรี ผลพบว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงนำเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งขณะนี้ร่างกายแข็งแรงดี ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ 48 ชั่วโมงจากครั้งก่อนพบเป็นว่าลบ แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ สรุปยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 35 ราย กลับบ้านแล้ว 20 ราย และยังอยู่ใน รพ. 15 ราย ส่วนในผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคสะสม 1,252 ราย เป็นการเดินทางมา รพ.เองจำนวน 1,192 ราย และคัดกรองที่สนามบิน 60 ราย ในจำนวนนี้กลับบ้านแล้ว 1,006 ราย และยังอยู่ใน รพ. 246 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กรณีที่บางหน่วยงานมีประกาศภายในหน่วยงานของตนเอง ห้ามบุคลากรของหน่วยงานเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนก ประกาศเหล่านี้เป็นเพียงการดูแลคนในปกครอง เป็นอำนาจที่สามารถทำได้ แต่ สธ.ยืนยันว่าไม่มีนโยบายสั่งห้ามเดินทางไปต่างประเทศ

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า สถานการณ์ในต่างประเทศขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่สำคัญเท่าจำนวนประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในขณะนี้มีรายงานการแพร่ระบาดในประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า จีนไทเป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ล่าสุดคือ อิตาลี ที่เพิ่งพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่ใหญ่ จึงมีการจับตามองประเทศที่มีการแพร่ระบาดในประเทศและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และนับวันจะเพิ่มจำนวนประเทศที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

“ผู้เดินทางที่ไปประเทศเหล่านี้ ก็จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อกลับมา ผู้เดินทางต้องตรวจสอบก่อนเดินทางว่าแผนการเดินทางจะไปยังจุดใดบ้าง เพื่อตรวจสอบการรายงานจำนวนผู้ป่วย ควรเลื่อนการเดินทางที่ไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นก็ยังสามารถเดินทางไปได้แต่ต้องป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงไปยังพื้นที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เมื่อกลับมาแล้วจะถูกปฏิบัติเหมือนผู้เดินทางทั่วไป คือ การคัดกรองที่สนามบิน พร้อมให้คำแนะนำและขอความร่วมมือหากมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอภายใน 14 วันหลังจากเดินทางกลับมาแล้วให้ไปพบแพทย์ ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีนโยบายการห้ามและการกักกั้น” นพ.ธนรักษ์กล่าว

นพ.ธนรักษ์กล่าว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคเพิ่ม 101 ราย เป็นสะสม 1,252 ราย เนื่องจาก 1.เพิ่มพื้นที่เฝ้าระวัง เพิ่มจำนวนประเทศเฝ้าระวังขึ้น และในวันนี้จะมีการเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศเกาหลีใต้ และหากประเทศอิตาลีไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก็จะต้องเพิ่มการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศอิตาลีเช่นกัน นับเป็นการเปิดศึก 2 ด้าน คือ จำนวนผู้เดินทางจากประเทศที่เฝ้าระวังมากขึ้นและปริมาณงานเพิ่มขึ้น 2.การเฝ้าระวังภายในประเทศ มีการขยายพื้นที่ 8 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ และชลบุรี ดังนั้น คนไทยทุกคนจะต้องเข้าใจสถานการณ์ ไม่ตื่นตระหนก ไม่เชื่อข่าวลวง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของข้อมูล หากพบข้อมูลอันเป็นเท็จให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

“สรุป ภาพรวมความเสี่ยงรายบุคคลยังต่ำมาก โอกาสในการติดเชื้อในประเทศยังต่ำ แต่ความเสี่ยงของประเทศในการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างในหลายๆ ประเทศนั้น ความเสี่ยงของประเทศยังต่ำแต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันจากประเทศต่างๆ เริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้นและเราจะพบว่าจะมีผู้เดินทางที่ติดเชื้อเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น เราคงเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์เต็มที่” นพ.ธนรักษ์กล่าว และว่า ส่วนของเรื่องวิธีการป้องกันด้วยยาและวัคซีน ในส่วนของวัคซีนยังอยู่ไกลมาก แต่ทางการจีนประกาศว่ามียา 1 ตัวยาเป็นมาตรฐานการรักษา และประเทศไทยได้นำเข้าตัวยานี้ก่อนหน้าที่จะทราบว่าใช้ได้ผลในประเทศจีน และในระยะต่อไปจะมีการนำเข้ายาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นในการดูแลประชาชนคนไทย

ด้าน นพ.ณรงค์กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องในการเตรียมสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วยยืนยันและผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ซึ่งในจำนวนสะสม 1,252 รายนั้นเข้ารับการรักษาทั้งใน รพ.เอกชนและรัฐบาล โรงเรียนแพทย์ คาดการณ์ว่าหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้นจะต้องขยายศักยภาพการดูแลผู้ป่วยและขยายจำนวนเตียง ทั้งนี้ในแต่ละ รพ.จะมีคลินิกโรคไข้หวัดแยกออกมา เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

เมื่อถามว่ากรณีที่จะมีการจัดงานโมโตจีพี ที่ จ.บุรีรัมย์ รวมถึงหากมีคนออกมาชุมนุมทางการเมือง สธ.จะมีคำแนะนำอย่างไร นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ทั้ง 2 เรื่องเป็นลักษณะเดียวกัน คือ การรวมตัวกันของคนจำนวนมาก มีความเสี่ยงอย่างชัดเจน แต่ความเสี่ยงที่สูงไม่สำคัญเท่ากับว่าจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้หรือไม่ เช่น แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในห้องความดันลบ หากสามารถจัดการความเสี่ยงได้ก็ไม่ติดเชื้อ หากการรวมตัวกันไม่มีผู้ป่วยเข้าไปเลย ความเสี่ยงจะเป็นศูนย์และไม่มีการแพร่เชื้อเลย สิ่งที่ต้องทำคือ 1.ขอความร่วมมือผู้ที่มีการคล้ายจะเป็นไข้หวัด ทั้งเบาและหนัก ห้ามออกไปร่วมงาน 2.ผู้จัดงานต้องบริหารจัดการคัดกรองผู้ที่มีไข้ ไอ เจ็บคอ ออกจากงาน ในส่วนของกรณีงานโมโตจีพีมีความซับซ้อนเนื่องจากไม่ใช่ไปแค่งานอีเวนต์ แต่มีการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ที่จะมีคนเดินทางไปทั้งก่อนหรือหลังวันงาน ดังนั้นจะต้องขอความร่วมมือการทุกฝ่ายเนื่องจากเป็นการเฝ้าระวังในชุมชน จะต้องช่วยกันสอดส่องว่าพบผู้ที่มีอาการป่วยหรือไม่ และการเข้าร่วมงานจะต้องมีการคัดกรอง แจกหน้ากากโดยเน้นเป็นหน้ากากผ้า จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ ส่วนในกรณีการออกมาชุมนุมทางการเมืองคงเป็นหลักการเดียวกัน

“หากไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงก็อย่าจัดเลย มันไม่ใช่เวลาที่เหมาะและก็จะเป็นการสนับสนุนไวรัสให้มันแพร่เชื้อได้โดยง่าย ถ้าจำเป็นจะต้องจัด คิดว่ามันมีหลายวิธีที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยหรือความไม่พอใจทางอื่น ถ้าสามารถทำทางอื่นได้ ผมแนะนำให้ทำทางอื่น มองมุมของการแพทย์และการสาธารณสุขช่วงเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมกับเรื่องที่อาจจะไม่ได้สำคัญจำเป็น ถ้าสุขภาพของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ก็แนะนำว่ากิจกรรมบางอย่างสามารถชะลอได้ก็ชะลอไป แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ จะต้องมารวมตัวกันด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ คือ ผู้ที่จะไปหากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ก็อย่าเพิ่งไปรวมตัวกันเพราะท่านอาจจะนำโรคไปให้กับคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก และคนจัดกิจกรรมก็คงจะคำนึงถึงสุขภาพของคนอื่นด้วย ก็คงจะต้องมีการคัดกรองไข้ คนจัดต้องคำนึงถึงและรับผิดชอบต่อคนที่ท่านชักชวนมา ท่านจะต้องเตรียมหน้ากากผ้าให้เพียงพอ ต้องเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับทุกคนที่มาร่วมงานไม่ว่าในฐานะผู้ชุมนุมหรืออย่างอื่น และป้องกันการแพร่เชื้อทุกทางนอกเหนือจากทางอากาศ ช่องทางอื่นเรื่องของการแจกจ่ายอาหารเครื่องดื่ม ก็จะต้องเป็นอาหารร้อน โดยเฉพาะในส่วนผู้ที่แจกจ่าย หากเป็นผู้ติดเชื้อแล้วไปจับแก้ว ก็อาจจะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นงานมันมีความละเอียดที่ต้องจัดการค่อนข้างจะเยอะ ก็จะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณากันดีๆ ว่าท่านกำลังคิดจะทำอะไรกันอยู่” นพ.ธนรักษ์กล่าว

เมื่อถามว่ายาที่ได้นำเข้ามาได้ใช้กับผู้ป่วยอย่างไรบ้าง รวมถึงอาการของผู้ป่วยวิกฤต 2 รายมีอาการอย่างไร นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยที่อาการวิกฤต คือ ผู้ป่วยรายที่มีอายุน้อยกว่าและใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดหรือเครื่องเอคโม (ECMO) อาการดีขึ้นต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต และรายที่เป็นผู้สูงอายุที่มีวัณโรคปอดร่วมด้วย อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤตโดยยังคงที่ ส่วนเรื่องของยาที่นำเข้ามาเพื่อจัดเตรียมไว้ในประเทศ ไม่ได้ตั้งเป้าจะใช้ในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่หนักและสามารถหายได้เอง จึงใช้ยากับผู้ป่วยรายที่ค่อนข้างหนัก 1 ราย และ 2 รายวิกฤต รวมเป็น 3 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image